โรคจิต (บาลีวันละคำ 1,704)
โรคจิต
ฤๅจะเป็นโรคที่ใช้รักษาคนทำผิด
อ่านว่า โรก-จิด
ประกอบด้วย โรค + จิต
(๑) “โรค”
บาลีอ่านว่า โร-คะ รากศัพท์มาจาก รุชฺ (ธาตุ = เสียดแทง, ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ชฺ) เป็น โอ (รุชฺ > โรช), แปลง ชฺ เป็น ค
: รุชฺ + ณ = รุชณ > รุช > โรช > โรค แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่เสียดแทง” (2) “อาการที่ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่” หมายถึง ความเจ็บป่วย, ความไข้ (illness, disease)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรค, โรค– : (คำนาม) ภาวะที่ร่างกายทํางานได้ไม่เป็นปรกติเนื่องจากเชื้อโรคเป็นต้น. (ป., ส.).”
(๒) “จิต”
บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)
: จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –
the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)
“จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”
โรค + จิต = โรคจิต เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรคจิต : (คำนาม) โรคทางจิตใจที่มีความผิดปรกติของความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมอย่างแรงถึงขนาดคุมสติไม่อยู่ เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน, วิกลจริต ก็เรียก. (อ. psychosis).”
ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า “โรคจิต” เป็นศัพท์บัญญัติทางนิติศาสตร์ เทียบคำอังกฤษว่า psychosis
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล psychosis เป็นบาลีว่า –
cittavibbhama จิตฺตวิพฺภม (จิด-ตะ-วิบ-พะ-มะ)
“วิพฺภม” แปลว่า ท่องเที่ยวไป, ไปผิดทาง; หลงทาง, สับสน (roaming, straying; strayed, confused)
“จิตฺตวิพฺภม” หมายถึง ความสับสนทางจิต, ภาวะที่จิตหลงทาง เป็นเหตุให้การกระทำและคำพูดแผกแผลงวิปริตผิดไปจากธรรมดา
ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “โรคจิต” ผู้พูดมักหมายถึงพฤติกรรมผิดปกติที่แสดงออกทางเพศ เช่น ชอบแอบดูผู้หญิงอาบน้ำ ชอบขโมยชุดชั้นในของสตรี ชอบอวดอวัยวะอันควรสงวน ชอบลวนลามทางเพศ เป็นต้น และเรียกผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นว่านั้นว่า “พวกโรคจิต”
…………..
: ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
: แต่การช่วยคนผิดให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเรื่องผิดธรรมดา
2-2-60