บาลีวันละคำ

พฤษภกาสร [2] (บาลีวันละคำ 950)

พฤษภกาสร [2]

๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี

๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛

กวีนิพนธ์จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

พระนิพนธ์ของ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

————

ทำความเข้าใจคำศัพท์ (ต่อ)

(3) “กุญชร

บาลีเขียน “กุญฺชร” อ่านว่า กุน-ชะ-ระ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ทำให้ดินเสื่อมสภาพด้วยการทำลายเล่น” (หมายความเพียงว่าดินตรงนั้นกระจุยกระจายเพราะถูกเหยียบย่ำ) (2) “ผู้ยินดีอยู่บนเนินเขา” (3) “ผู้เที่ยวบันลือโกญจนาท

กุญชร หมายถึง ช้าง

คำบาลีที่หมายถึงช้าง ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยน่าจะเป็น “หัตถี” “คช” และ “กุญชร” คำนี้

ความจริงคำที่หมายถึง “ช้าง” ในบาลีมีมาก 10 คำ

(4) “โท

มีความหมายอย่างเดียวกับ “ทุ” หรือ “ทฺวิ” ในบาลี คือแปลว่า “สอง” (จำนวน 2) บาลีใช้แผลงเป็น ทิ-, ทฺวา-, พา-, เทฺว ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด แต่ยังไม่พบที่แผลงเป็น โท

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โท : (คำวิเศษณ์). สอง, ชั้นที่ ๒ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่าเอก สูงกว่าตรี) เช่น ร้อยโท ข้าราชการชั้นโท ปริญญาโท; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ้  ว่า ไม้โท. (ป. ทุ, ทฺวิ; ส. ทฺวิ).”

(5) “ทนต์

บาลีเป็น “ทนฺต” อ่านว่า ทัน-ตะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องตัดอาหาร” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องกินอาหาร” (3) “อวัยวะที่ข่ม” (คือขบกัด) หมายถึง ฟัน, งาช้าง, เขี้ยว (a tooth, a tusk, fang)

(6) “เสน่ง

พจน.54 บอกว่าเป็นคำเขมร –

เสนง, เสน่ง [สะเหฺนง, สะเหฺน่ง] : (คำนาม) เขาสัตว์, เขนง, แสนง ก็ใช้. (ข.).”

(7) “นรชาติ

ประกอบด้วย นร + ชาติ

นร

บาลีอ่านว่า นะ-ระ- แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่” (3) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (4) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (5) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

นร” ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

ชาติ

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชน (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ –

(1) แปลง ชน (ชะ-นะ) เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

(2) แปลง “” (ที่ ชน) เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]); genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า

(2) กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า

(4) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่

(5) รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ

(6) ประเทศ

(7) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน

(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ

ในคำว่า “นรชาติ” (นร + ชาติ) นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8) (หรือข้อ (3) ตามความหมายในบาลี) คือหมายถึง จำพวกคน, หมู่คน

(ยังไม่จบ)

: กิน นอน กลัว สืบพันธุ์ เสมอกันทั้งคนและสัตว์

: ธรรมะเป็นเครื่องวัด อย่าให้สัตว์สูงกว่าคน

#บาลีวันละคำ (950)

24-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *