พฤษภกาสร [3] (บาลีวันละคำ 951)
พฤษภกาสร [3]
๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี
๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛
กวีนิพนธ์จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
พระนิพนธ์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
————
ทำความเข้าใจคำศัพท์ (ต่อ)
(8) “อินทรีย์”
บาลีเขียน “อินฺทฺริย” มีจุดใต้ ทฺ ด้วย ถ้าเขียนเป็นบาลีไทยหรือบาลีแบบคำอ่าน นิยมใส่เครื่องหมายบน ท เป็น ท๎ = อินท๎ริยะ
คำอ่านไม่ใช่ อิน-ทะ-ริ-ยะ หรือ อิน-ซิ-ยะ แต่เป็น อิน-ทฺริ-ยะ หรือ อิน-เทฺรียะ (-เทฺรียะ เทียบเสียงเหมือนคำว่า ตึง-เปรี๊ยะ)
ถ้าเป็น อินฺทฺริยัง = อินท๎ริยัง อ่านว่า อิน-เทฺรียง จะได้เสียงที่ถูกต้อง
“อินฺทฺริย” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความแข็งแรง, อำนาจ (strength, might), ปกครอง, ครอบครอง (governing, ruling), การคุ้มครอง, หลักการบริหาร (governing, ruling or controlling principle)
อินฺทฺริย ภาษาไทยใช้ว่า “อินทรีย์” อ่านว่า อิน-ซี
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายทางธรรมของ “อินทรีย์” ไว้ว่า –
“อินทรีย์ : ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน วิริยะเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความเกียจคร้าน เป็นต้น.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อินทรีย์” ไว้ดังนี้ –
(1) ร่างกายและจิตใจ เช่น สํารวมอินทรีย์
(2) สติปัญญา เช่น อินทรีย์แก่กล้า
(3) สิ่งมีชีวิต
ในคำประพันธ์นี้ “อินทรีย์” หมายถึง ร่างกาย
(9) “สถิต”
อ่านว่า สะ-ถิด เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“สฺถิต : (คำคุณศัพท์) อันไม่เคลื่อนที่, อันอยู่หรือหยุดแล้ว; อันตั้งใจแล้ว; ตรงหรือสัตย์ซื่อ; สาธุหรือธารมิก; อันได้ตกลงแล้ว; immovable or steady; stayed or stopped; determined or resolved; upright, virtuous; agreed.”
“สถิต” บาลีเป็น “ฐิต” (ถิ-ตะ) เป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ยืนอยู่, ยืนตรง (standing, upright), ไม่เคลื่อนไหว, ดำรงอยู่ (immovable, being), ชั่วกาลนาน, คงทน (lasting, enduring), มั่นคง, แน่นอน, ควบคุมได้ (steadfast, firm, controlled)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“สถิต : (คำกริยา) อยู่, ยืนอยู่, ตั้งอยู่, (ใช้เป็นคํายกย่องแก่สิ่งหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะสูง) เช่น พระเจ้าสถิตบนสวรรค์ พระมหากษัตริย์สถิตบนพระที่นั่ง สมเด็จพระสังฆราชสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร. (ส. สฺถิต; ป. ฐิต).”
จะเห็นได้ว่า “สถิต” หรือ “ฐิต” คำเดิมไม่มี ย ดังนั้นในภาษาไทยจึงสะกดว่า “สถิต” ไม่ใช่ “สถิตย์”
(ดูเพิ่มเติม : บาลีวันละคำ คำว่า “สถิต”)
(10) “โลกา”
มาจากคำว่า “โลก”
ภาษาไทยอ่านว่า โลก บาลีอ่านว่า โล-กะ
๑ ในแง่ภาษา
(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลก (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่”
(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลก (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
๒ ในแง่ความหมาย
(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
(7) โลก หมายถึง ภพภูมิที่อุบัติของผู้ทำกรรมต่างๆ กัน เช่น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม
ในคำประพันธ์นี้ “โลกา” หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน สังคม หมู่ชน ชุมชน หรือที่อาจรวมลงในคำอังกฤษว่า the world
(ครั้งต่อไป สรุปจบ)
: ถ้าใช้วิธี “วิ่งตามโลก”
เราจะไม่มีวันทันโลก
: แต่ถ้าใช้วิธี “รู้ทันโลก”
จะมิใช่แค่ทันโลกเท่านั้น แต่จะนำโลกได้ด้วย
#บาลีวันละคำ (951)
25-12-57