พฤษภกาสร [1] (บาลีวันละคำ 949)
พฤษภกาสร [1]
กวีนิพนธ์จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
พระนิพนธ์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
“พฤษภกาสร” เป็นกวีนิพนธ์ท่อนหนึ่งที่มีผู้นิยมนำไปอ้างกันมาก โดยการท่อง การอ่าน หรือการเขียน
ขอเชิญทำความเข้าใจกันสักครั้งเพื่อความมั่นใจ
(๑)
“พฤษภกาสร” ท่อนที่นิยมนำไปอ้าง
เขียนตามอักขรวิธีในปัจจุบัน
๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี
๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛
(๒)
คำอ่าน
พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน / อีก-กุน-ชอน-อัน-ปฺลด-ปฺลง
โท-ทน-สะ-เหฺน่ง-คง / สำ-คัน-หฺมาย-ใน-กาย-มี
นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย / ม-ลาย-สิ้น-ทั้ง-อิน-ซี
สะ-ถิด-ทั่ว-แต่-ชั่ว-ดี / ปฺระ-ดับ-ไว้-ใน-โล-กา
(๓)
ข้อควรระวัง
(1) คำที่มักเขียนผิด คือ “สถิต” ไม่มี -ย์ ถูก
เขียนเป็น “สถิตย์” มี -ย์ ผิด
(ดูคำอธิบายข้างหน้า)
(2) “นรชาติวางวาย” อ่านว่า นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย
คนฟังที่ไม่เข้าใจหลักการอ่านคำประพันธ์และไม่เข้าใจศัพท์ ได้ยินเสียงว่า–ติ-วาง-วาย ไม่รู้ว่า –ติ อ่านมาจาก ชาติ- (ชาด-ติ-) ก็สำคัญว่าเป็น –ที่วางวาย จึงอ่านว่า นอ-ระ-ชาด-ที่-วาง-วาย แล้วมักเขียนเติมคำเป็น “นรชาติที่วางวาย” ไปด้วย
(3) จึงควรย้ำทำความเข้าใจกันไว้ว่า วรรคนี้ข้อความที่ถูกต้องคือ “นรชาติวางวาย”
อ่านว่า นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย
ไม่ใช่ “นรชาติที่วางวาย”
(๔)
ทำความเข้าใจคำศัพท์
(1) “พฤษภ”
เป็นรูปคำสันสกฤต คำนี้บาลีเป็น “อุสภ” (อุ-สะ-พะ)
อุสภ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ภ ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ทำให้ศัตรูเร่าร้อน” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง = คนที่แข็งแรงมาก เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่ต่อสู้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พฤษภ : (คำนาม) วัว; ชื่อกลุ่มดาวรูปวัวเรียกว่า ราศีพฤษภ เป็นราศีที่ ๑ ในจักรราศี. (ส.วฺฤษฺภ; ป. อุสภ).”
“พฤษภ” ถ้าอยู่คำเดียว อ่านว่า พฺรึ-สบ หรือ พฺรึด-สบ ก็ได้ (ตาม พจน.54)
แต่ในคำประพันธ์นี้มีคำว่า “กาสร” มาต่อท้ายเป็น “พฤษภกาสร” จึงต้องอ่านตามหลักฉันทลักษณ์ว่า พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน คือออกเสียง พะ ที่ –ภ– ด้วย (ไม่ใช่ พฺรึด-สบ-กา-สอน)
(2) “กาสร”
แปลว่า “ควาย” คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต (ยังไม่พบในภาษาบาลี)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“กาสร : (คำนาม) ‘กาสร’, ‘ผู้เที่ยวไปหาน้ำบ่อยๆ’, มหิษ, กระบือ, ควาย (ปราณินจำพวกนี้ชอบที่ลุ่มน้ำ); ‘who frequents water’, a buffalo (this animal being partial to marshy places).”
คำบาลีที่แปลว่า “ควาย” เท่าที่พบมี 2 คำ คือ:
(1) “มหิส” (มะ-หิ-สะ เป็น มหีส และ มหึส [มะ-หิง-สะ] ก็มี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กลิ้งเกลือกอยู่บนแผ่นดิน”
(2) “ลุลาย” (ลุ-ลา-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชอบน้ำ” (โปรดสังเกตว่าทั้งสองคำ ความหมายทำนองเดียวกับ “กาสร”)
(ยังไม่จบ)
: วัวควายมีร่างกายเป็นทุน
: คนไม่ทำบุญ จะเอาอะไรเป็นทุนไปสู้กับวัวควาย
#บาลีวันละคำ (949)
23-12-57