ราชบพิธ (บาลีวันละคำ 1,709)
ราชบพิธ
ไม่ใช่ “ราชบพิตร”
“ราชบพิธ” อ่านว่า ราด-ชะ-บอ-พิด
ประกอบด้วย ราช + บพิธ
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “บพิธ”
บาลีเป็น “ปวิธ” (ปะ-วิ-ทะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ธา (ธา > ธ)
: ป + วิ + ธา = ปวิธา > ปวิธ + อ = ปวิธ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตั้งไว้ข้างหน้าโดยอาการที่แปลกออกไป” หมายถึง ตั้งไว้, แต่งไว้ (set up, arranged)
“ปวิธ” ในภาษาไทย แผลง ป เป็น บ ว เป็น พ จึงเป็น “บพิธ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บพิธ : (คำกริยา) แต่ง, สร้าง. (ป. ป + วิ + ธา).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพิ่มเติมคำนิยามเป็นดังนี้ –
“บพิธ : (คำกริยา) แต่ง, สร้าง, เช่น วัดราชบพิธ. (ป. ป + วิ + ธา).”
เป็นอันยืนยันได้ชัดเจนว่า ชื่อพระอารามแห่งนี้สะกด “ราชบพิธ”
ไม่ใช่ “ราชบพิตร”
ราช + ปวิธ = ราชปวิธ > ราชบพิธ แปลว่า “อันพระราชาทรงแต่งตั้งไว้”
ส่วนคำว่า “บพิตร” มาจากสันสกฤตว่า “ปวิตฺร” บาลีเป็น “ปวิตฺต” (ปะ-วิด-ตะ) แปลว่า ผู้สะอาด, ผู้หมดจด, ผู้บริสุทธิ์
ในภาษาไทย ป > บ และ ว > พ : ปวิตฺต > ปวิตฺร > บพิตร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บพิตร : (ราชาศัพท์; คำแบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) พระองค์ท่าน เช่น บำรุงฤทัยตระโบม บพิตรผู้อย่าดูเบา, โดยมากเป็นคำที่พระสงฆ์ใช้แก่เจ้านาย ซึ่งใช้คำเปลี่ยนไปตามพระอิสริยยศของเจ้านาย เช่น สมเด็จพระราชภคินีบพิตร สมเด็จพระบรมวงศบพิตร บรมวงศบพิตร พระเจ้าวรวงศบพิตร พระวรวงศบพิตร.”
โดยความ “บพิตร” ก็คือเจ้านาย อันเป็นความหมายเดียวกับ “ราช”
“ราชบพิตร” จึงเป็นคำซ้ำความหมาย ไม่ตรงกับความประสงค์ในที่นี้
และ “ราชบพิตร” นั้นจะเกณฑ์ให้แปลว่า “พระราชาสร้าง” ก็ไม่ได้ เพราะ“บพิตร” ไม่ได้แปลว่า สร้าง
“วัดราชบพิธ” จึงไม่ใช่ “วัดราชบพิตร”
…………..
ดูก่อนภราดา!
วัดราชบพิธ นอกจากจะไม่ใช่วัดราชบพิตรแล้ว
ก็ยังไม่ใช่ “วัดปากน้ำ” ดังที่หลายคนเข้าใจอีกต่างหาก
แต่จะอย่างไรก็ตาม ท่านย่อมว่า –
คาเม วา ยทิ วารญฺเญ
นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.
คามวาสหรืออรัณยวาส
ที่ลุ่มลาดหรือดงดอน
ท่านผู้ทรงศีลสังวรสว่างกิเลส สำนักอยู่ในเขตแดนใด
แดนนั้นไซร้ย่อมเป็นภูมิสถานอันรมณีย์
7-2-60