บาลีวันละคำ

อนุรักษ์ (บาลีวันละคำ 1,708)

อนุรักษ์

ยิ่งอนุรักษ์ ยิ่งหมด

อ่านว่า อะ-นุ-รัก

ประกอบด้วย อนุ + รักษ์

(๑) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม

(๒) “รักษ์

บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺข (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ปัจจัย

: รกฺข + = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา

รกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)

(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)

(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)

(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)

อนุ + รกฺข = อนุรกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ตามรักษา

อนุรกฺข” ออกจากคำกริยา (ประถมบุรุษ เอกพจน์) ว่า “อนุรกฺขติ” (อะ-นุ-รัก-ขะ-ติ) แปลว่า เฝ้าดู, สอดส่อง, ดูแล (to guard, watch over) อนุรักษ์, อารักขา, ป้องกัน (to preserve, protect, shield)

ยังมีศัพท์ที่ออกจาก “อนุรกฺขติ” อีก ขอนำมาเสนอเพื่อให้เห็นความหมายชัดเจนขึ้น ดังนี้ –

(1) “อนุรกฺขก” (อะ-นุ-รัก-ขะ-กะ) แปลว่า ผู้อนุรักษ์, ผู้รักษา (preserving, keeping up)

(2) “อนุรกฺขณ” (อะ-นุ-รัก-ขะ-นะ) แปลว่า การเฝ้าดูแล, การคุ้มครอง, การอนุรักษ์ (guarding, protection, preservation)

(3) “อนุรกฺขา” (อะ-นุ-รัก-ขา) การเฝ้าดู, การคุ้มครอง, การอนุรักษ์ (guarding, protection, preservation)

อนุรกฺข” ในบาลีเป็นคำนาม ในภาษาไทยใช้ว่า “อนุรักษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุรักษ-, อนุรักษ์ : (คำกริยา) รักษาให้คงเดิม. (ส.).”

…………..

ข้อสังเกต :

สังคมไทยปัจจุบันมีการรณรงค์ให้อนุรักษ์สิ่งต่างๆ เป็นอันมาก แต่น่าสังเกตว่า รณรงค์ให้อนุรักษ์อะไร สิ่งนั้นมักจะฉิบหายไปในที่สุด เช่น –

อนุรักษ์ป่าไม้: ป่าไม้ก็เหี้ยนเตียนหมด

อนุรักษ์น้ำ: น้ำก็แห้งหมด ที่ไม่แห้งก็เน่าหมด

อนุรักษ์ภาษาไทย: ภาษาไทยก็เสื่อมทรามไปหมด

อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย: คนไทยก็ทิ้งวัฒนธรรมของตัวเองจนหมด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ของเก่าเจ้าก็ไม่รักษา ของใหม่มีค่าก็หาไม่เห็น

: พ่อดอกโสนบานเช้า แม่ดอกคัดเค้าบานเย็น

: อย่าเอาแต่แอ่นอวดเอ็น อยู่เลยเจ้าเอวอ่อนเอย

6-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย