สังฆราช (บาลีวันละคำ 1,710)
สังฆราช
อ่านว่า สัง-คะ-ราด
ประกอบด้วย สังฆ + ราช
(๑) “สังฆ”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ : สงฺ + ฆ = สงฺฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในภาษาไทย อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
(๒) “ราช”
แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราชา” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้เป็น “ราช-” นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
สงฺฆ + ราชา = สงฺฆราชา > สังฆราช
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังฆราช : (คำนาม) ตําแหน่งพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล. (ป.).”
ยังไม่พบคำว่า “สงฺฆราชา” ในคัมภีร์
ในคัมภีร์มีคำแสดงลักษณะพื้นฐานของภิกษุผู้เป็นใหญ่ในสังฆมณฑลไว้ดังนี้ –
(1) เถรา = มีจิตใจที่มั่นคง
(2) รตฺตญฺญู = ผ่านประสบการณ์มายาวนาน
(3) จิรปพฺพชิตา = บวชมานาน
(4) สงฺฆปิตโร = ภิกษุทั้งหลายเคารพนับถือเสมือนเป็นบิดา
(5) สงฺฆปรินายกา = นำหมู่นำคณะได้รอบด้าน
และมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า –
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น”
…………..
ในภาษาไทย มักเรียกพระนาม “สังฆราช” อย่างสังเขปว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
ในสังคมไทย พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระภิกษุที่ทรงเห็นสมควรไว้ในตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช”
…………..
ดูก่อนภราดา!
บุคคลชนิดเช่นไรที่ท่านจะเลือกให้ดำรงตำแหน่ง-ถ้าท่านสามารถแต่งตั้งได้ ? –
: อาศัยทำความดีเป็นโอกาสเพื่อได้ตำแหน่งสูงขึ้น
: อาศัยตำแหน่งเป็นโอกาสเพื่อทำความดีได้สูงขึ้น
8-2-60