ฉัพพัคคีย์ (บาลีวันละคำ 4,371)
ฉัพพัคคีย์
Gang of Six
อ่านว่า ฉับ-พัก-คี
“ฉัพพัคคีย์” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉพฺพคฺคิย” อ่านว่า ฉับ-พัก-คิ-ยะ แยกศัพท์เป็น ฉ + พคฺคิย
(๑) “ฉ”
บาลีอ่านว่า ฉะ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำบอกจำนวน แปลว่า หก (จำนวน 6)
(๒) “พคฺคิย”
รูปคำเดิมเป็น “วคฺคิย” อ่านว่า วัก-คิ-ยะ ประกอบด้วย วคฺค + อิย ปัจจัย
“วคฺค” (วัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วชฺชฺ (ธาตุ = เว้น, ยกเว้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺช ที่ (ว)-ชฺช เป็น คฺค
: วชฺช + ณ = วชฺชณ > วชฺช > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่เว้นสิ่งที่มีกำเนิดไม่เหมือนกัน” (คืออะไรที่ไม่เหมือนกันก็ไม่นับเข้าพวกด้วย)
(2) วชฺ (ธาตุ = ถึง) + ค ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (ว)-ชฺ เป็น คฺ
: วชฺ + ค = วชฺค > วคฺค แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ถึงการรวมกัน”
“วคฺค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) หมู่, ส่วนหรือตอน, กลุ่ม, พวก (a company, section, group, party)
(2) วรรค, ตอน หรือบทของหนังสือ (a section or chapter of a canonical book)
ในภาษาไทย เอาคำว่า “วคฺค” มาใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “พรรค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พรรค, พรรค-, พรรค์ : (คำนาม) หมู่คนที่เข้ารวมกันเป็นพวกเป็นฝ่าย เช่น พรรคการเมือง, พวก เช่น คนพรรค์นั้น. (ส. วรฺค; ป. วคฺค).”
วคฺค + อิย = วคฺคิย แปลตามศัพท์ว่า “นับเนื่องในหมู่” หมายถึง เป็นพวก, เป็นกลุ่ม, เป็นหมู่ (belonging to a group, forming a company, a party of)
ฉ + วคฺคิย แปลง ว เป็น พ แล้วซ้อน พฺ ระหว่างศัพท์ หรือจะว่า ซ้อน พฺ ระหว่างศัพท์แล้วแปลง ว เป็น พ ก็ได้
: ฉ + พฺ + วคฺคิย > พคฺคิย = ฉพฺพคฺคิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นับเนื่องในหมู่หกคน”
“ฉพฺพคฺคิย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ฉัพพัคคีย์”
โปรดนึกเทียบกับคำที่เราคุ้นกันอยู่ คือ “ปญฺจวคฺคิย” (ปัน-จะ-วัก-คิ-ยะ) ที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัญจวัคคีย์” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นับเนื่องในหมู่ห้าคน”
“ปัญจวัคคีย์” “ฉัพพัคคีย์” เป็นศัพท์จำพวกเดียวกัน
ขยายความ :
คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “ฉพฺพคฺคิย > ฉัพพัคคีย์” ไว้ดังนี้ –
…………..
อสฺสชิปุนพฺพสุกาติ อสฺสชิ จ ปุนพฺพสุโก จ ฉสุ ฉพฺพคฺคิเยสุ เทฺว คณาจริยา ฯ
คำว่า อสฺสชิปุนพฺพสุกา คือ พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะในบรรดาภิกษุฉัพพัคคีย์ 6 รูป ท่านทั้งสองเป็นคณาจารย์
ปณฺฑุโก โลหิตโก เมตฺติโย ภุมฺมชโก อสฺสชิ ปุนพฺพสุโกติ อิเม ฉ ชนา ฉพฺพคฺคิยา นาม ฯ
ชนทั้ง 6 เหล่านี้ คือ ปัณฑุกะ 1 โลหิตกะ 1 เมตติยะ 1 ภุมมชกะ 1 อัสสชิ 1 ปุนัพพสุกะ 1 ชื่อว่าฉัพพัคคีย์
เตสุ ปณฺฑุกโลหิตกา อตฺตโน ปริสํ คเหตฺวา สาวตฺถิยํ วสนฺติ ฯ
ในฉัพพัคคีย์เหล่านั้น พระปัณฑุกะและพระโลหิตกะพาบริวารของตนไปอยู่ ณ กรุงสาวัตถี
เมตฺติยภุมฺมชกา ราชคเห ฯ
พระเมตติยะพระภุมมชกะไปอยู่ ณ กรุงราชคฤห์
อิเม เทฺว ชนา กีฏาคิริสฺมึ อาวาสิกา โหนฺติ ฯ
อีก 2 ท่าน (คือ พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ) เป็นเจ้าถิ่นอยู่ในกีฏาคิรีนิคม
ที่มา: ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ภาค 3 หน้า 212-213 (กีฏาคิริสุตฺตวณฺณนา)
…………..
โปรดสังเกตว่า อรรถกถาใช้คำว่า “ชนา” เรียกภิกษุกลุ่มนี้ ไม่ได้ใช้คำว่า “ภิกฺขู”
ตามอรรถกถา น่าจะสรุปได้ว่า ภิกษุกลุ่มฉัพพัคคีย์เดิมทีเป็นชาวเมืองกีฏาคิรีนิคม ต่อมา พระปัณฑุกะและพระโลหิตกะไปอยู่กรุงสาวัตถี พระเมตติยะพระภุมมชกะไปอยู่กรุงราชคฤห์ คงเหลือพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะอยู่เป็นเจ้าถิ่นในกีฏาคิรีนิคม
คำว่า “อาวาสิกา” ในอรรถกถา ไม่ได้หมายถึงเจ้าอาวาสหรือสมภาร ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า abbot แต่หมายถึง ผู้ที่อยู่ประจำในท้องถิ่นนั้น ๆ ตรงกันข้ามกับ “อาคันตุกะ” คือผู้ที่ผ่านไปผ่านมาและพำนักอยู่ชั่วคราว
พึงทราบว่า ภิกษุกลุ่มที่เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” เป็นกลุ่มภิกษุที่ประพฤติเหลวไหล เป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทหลายต่อหลายข้อ
ใช้คำให้เห็นภาพก็ว่า-เอ่ยชื่อ “ฉัพพัคคีย์” มีแต่คนเบือนหน้า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชื่อเสียกับชื่อเสียง
ดูใกล้เคียงกันเต็มที
: ชื่อชั่วกับชื่อดี
เลือกทำได้ตามใจตัว
#บาลีวันละคำ (4,371)
31-5-67
…………………………….
…………………………….