มาฆบูชา (บาลีวันละคำ 1,713)
มาฆบูชา
อ่านว่า มา-คะ-บู-ชา
ประกอบด้วย มาฆ + บูชา
(๑) “มาฆ”
บาลีอ่านว่า มา-คะ รากศัพท์มาจาก มฆา + ณ ปัจจัย
1) “มฆา” (มะ-คา) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = บูชา) + อา ปัจจัย, แปลง หฺ ที่สุดธาตุเป็น ฆฺ (มหฺ > มฆ)
: มหฺ + อา = มหา > มฆา แปลตามศัพท์ว่า “ดาวอันผู้ต้องการความสำเร็จบูชา”
“มฆา” ศัพท์นี้ รูปศัพท์เป็น “มฆ” และ “มาฆ” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มฆะ, มฆา, มาฆะ : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๑๐ มี ๕ ดวง เห็นเป็นรูปโคมูตร วานร หรือ งอนไถ, ดาวโคมูตร ดาววานร ดาวงอนไถ หรือ ดาวงูผู้ ก็เรียก. (ป., ส.).”
2) มฆา + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ลบสระหน้า” (มฆา > มฆ), ทีฆะ อะ ต้นศัพท์เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (มฆ > มาฆ)
: มฆา + ณ = มฆาณ > มฆา > มฆ > มาฆ แปลตามศัพท์ว่า “เดือนที่ประกอบด้วยดาวมฆะที่มีดวงจันทร์เต็มดวง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาฆ-, มาฆะ ๑ : (คำนาม) ชื่อเดือนที่ ๓ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนกุมภาพันธ์. (ป., ส.).”
(๒) “บูชา”
บาลีเป็น “ปูชา” (ปู-ชา) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปูชฺ + อ = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การยกย่อง, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)
บาลี “ปูชา” ในภาษาไทยใช้ว่า “บูชา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”
มาฆ + ปูชา = มาฆปูชา > มาฆบูชา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาฆบูชา : (คำนาม) การทําบุญพิเศษทางพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญเดือน ๓ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สําคัญซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อ มฆะ) ๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้นล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา ๔. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น, วันจาตุรงคสันนิบาต ก็เรียก. (ป. มาฆปูชา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มาฆบูชา : การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน 3 ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ พระเวฬุวันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มาฆบูชา” เป็นอังกฤษว่า –
Māghapūjā : Worship on the Full-Moon Day of the third lunar month in commemoration of the Great Assembly of Disciples.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [97] บอกไว้ดังนี้ –
พุทธโอวาท 3 : ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ 3 ข้อ (Buddha-ovāda: the Three Admonitions or Exhortations of the Buddha)
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ : ไม่ทำความชั่วทั้งปวง (Sabbapāpassa akaraṇaŋ: not to do any evil)
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา : ทำแต่ความดี (Kusalassūpasampadā: to do good; to cultivate good)
3. สจิตฺตปริโยทปนํ : ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ (Sacittapariyodapanaŋ: to purify the mind)
หลัก 3 ข้อนี้ รวมอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันเพ็ญ เดือน 3 ที่บัดนี้เรียกว่า วันมาฆบูชา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าทำวันมาฆบูชา
: ให้มีราคาเพียงแค่วันเวียนเทียน
11-2-60