เอตทัคคะ (บาลีวันละคำ 1,718)
เอตทัคคะ
ของแท้ต้องมาจากวัด
อ่านว่า เอ-ตะ-ทัก-คะ
เขียนแบบบาลีเป็น “เอตทคฺค” อ่านว่า เอ-ตะ-ทัก-คะ เช่นกัน
แยกศัพท์อย่างไร ?
แบบ 1: เอตํ (เอ-ตัง, คำสรรพนาม ศัพท์เดิม “เอต”(เอ-ตะ) แจกวิภัตติเป็น “เอตํ” = นั่น, นี้) + อคฺคํ (อัก-คัง, คำนาม/คุณศัพท์ ศัพท์เดิม “อคฺค”(อัก-คะ) แจกวิภัตติเป็น “อคฺคํ” = เลิศ, สูงสุด, ยอด) แปลงนิคหิตที่ (เอ)-ตํ เป็น ท (เอตํ > เอตท)
: เอตํ > เอตท + อคฺคํ = เอตทคฺคํ
แบบ 2: เอต + อคฺค ลง ท อาคมระหว่าง เอต กับ อคฺค
: เอต + ท + อคฺค = เอตทคฺค
แบบ 3: เอตทฺ + อคฺค
“เอตทฺ” ก็คือ “เอต” นั่นเอง แต่สะกดโดยอักขรวิธีอีกแบบหนึ่งเลียนแบบสันสกฤต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (the Pali text society’s Pali-English dictionary edited by T. W. RHYS DAVIDS) สะกดคำว่า “เอต” ด้วยอักษรโรมันเป็น Etad
ถ้าต้องการค้นคำว่า “เอต” (เอ-ตะ) พิมพ์คำที่ค้นเป็น Eta เท่าตัวอักษรไทย (E = เอ ta = ต) จะไม่พบคำนี้ ( =ไม่มีคำนี้ในพจนานุกรมฯ) ต้องพิมพ์เป็น Etad จึงจะพบ “เอต”
Etad ถอดเป็นอักษรไทยก็คือ “เอตทฺ” ดังนั้น “เอตทฺ” ก็คือ “เอต” นั่นเอง
: เอตทฺ + อคฺค = เอตทคฺค
“เอตทคฺค” ในบาลีใช้เป็น “เอตทคฺคํ” (เอ-ตะ-ทัก-คัง) เป็นพื้น จนบางตำราถือว่าเป็นศัพท์จำพวกนิบาต เพราะใช้คงรูปอยู่อย่างเดียว
“เอตทคฺค” แปลตามศัพท์ว่า “นั่นเป็นฐานะอันเลิศ”
คำว่า “เลิศ” บาลีคือ “อคฺค” (อัก-คะ) รากศัพท์มาจาก อชฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (อ)-ชฺ เป็น คฺ, ซ้อน คฺ
: อชฺ > อค + ค = อคฺค + อ = อคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ถึงความประเสริฐที่สุด” (2) “ฐานะอันบุคคลถึงได้ด้วยบุญ” (3) “สิ่งที่ถึงก่อน”
“อคฺค” หมายถึง ยอด, จุดหมาย, สูงสุด, สุดยอด ส่วนที่ดีที่สุด, ความดีเลิศ ความดีวิเศษ, ความเด่น, ตำแหน่งยอดเยี่ยม (top, point, the top or tip, the best part, the ideal, excellence, prominence, first place)
“เอตทคฺค” ในภาษาไทยใช้ว่า “เอตทัคคะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “เอตทัคคะ” เป็นอังกฤษว่า –
“Etadagga : foremost; first or best of that class or type.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอตทัคคะ : (คำนาม) ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “เอตทัคคะ” ไว้ดังนี้ –
“เอตทัคคะ : “นั่นเป็นยอด”, “นี่เป็นเลิศ”, บุคคลหรือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ดีเด่น หรือเป็นเลิศ ในทางใดทางหนึ่ง เช่น ในพุทธพจน์ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ รตฺตญฺญูนํ ยทิทํ อญฺญาโกณฺฑญฺโญ” (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้รัตตัญญู อัญญาโกณฑัญญะนี่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม), ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ” (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเจริญทั้งหลาย ความเจริญเพิ่มพูนปัญญานี่ เป็นเยี่ยม) ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว ทานานํ ยทิทํ ธมฺมทานํ” (ภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาทานทั้งหลาย ธรรมทานนี้เป็นเลิศ); ตามปกติ มักหมายถึงพระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก หมายความว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางแสดงธรรม เป็นต้น”
…………..
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเอตทัคคะในบริษัทสี่ มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อ 146-152 ท่านผู้ใดเป็นเอตทัคคะในทางใดบ้าง ผู้ปรารถนาจะเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะพึงศึกษาดูเถิด
…………..
: เป็นเลิศเพื่อประโยชน์ส่วนตน ส่งผลแค่วันตาย
: เป็นเลิศเพื่อประโยชน์มหาชน ส่งผลไม่มีวันตาย
16-2-60