สุภาษิต (บาลีวันละคำ 1,725)
สุภาษิต
อย่างไรเรียกว่าพูดดี
อ่านว่า สุ-พา-สิด
“สุภาษิต” บาลีเขียน “สุภาสิต” อ่านว่า สุ-พา-สิ-ตะ ประกอบด้วย สุ + ภาสิต
(๑) “สุ”
เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(๒) “ภาสิต”
อ่านว่า พา-สิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ภาสฺ (ธาตุ = พูด) + อิ อาคมท้ายธาตุ + ต ปัจจัย
: ภาสฺ + อิ + ต = ภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “คำที่พึงพูด”
“ภาสิต” ตามรูปศัพท์เป็นคำกริยาอดีตกาล (past participle) กรรมวาจก แปลว่า “(คำ อันเขา) กล่าวแล้ว” หมายถึง คำหรือเรื่องราวที่ถูกกล่าว, พูด, เอ่ย (spoken, said, uttered)
แต่ “ภาสิต” สามารถใช้เป็นคำนามก็ได้ด้วย แปลว่า คำพูด, ถ้อยคำ (speech, word)
สุ + ภาสิต = สุภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวแล้วดี” หมายถึง พูดดี (well spoken) หรือคำกล่าวที่ดี (good words)
ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สุภาษิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุภาษิต : (คำนาม) ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ. (ส.; ป. สุภาสิต ว่า ถ้อยคําที่กล่าวดีแล้ว).”
…………..
อย่าไรจึงเรียกว่า “สุภาษิต” :
องค์ประกอบของคำพูดที่จะเรียกได้ว่าเป็น “สุภาษิต” ตามมาตรฐานของพระพุทธศาสนามี 5 ประการ คือ –
(1) กาเลน จ ภาสิตา โหติ = พูดถูกกาลเทศะ
(2) สจฺจา จ ภาสิตา โหติ = พูดเรื่องจริง
(3) สณฺหา จ ภาสิตา โหติ = พูดสุภาพเรียบร้อย
(4) อตฺถสญฺหิตา จ ภาสิตา โหติ = พูดเรื่องมีสาระประโยชน์
(5) เมตฺตจิตฺเตน จ ภาสิตา โหติ = พูดด้วยน้ำใจแห่งมิตร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สุภาษิต มีไว้เพื่อทำ
: มิใช่เพื่อจำเอาไปพูด
23-2-60