มลพิษ (บาลีวันละคำ 1,731)
มลพิษ
ไม่ใช่ “มลภาวะ”
อ่านว่า มน-ละ-พิด
แยกศัพท์เป็น มล + พิษ
(๑) “มล”
บาลีอ่านว่า มะ-ละ รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + อ ปัจจัย
: มลฺ + อ = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”
“มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“มล : (คุณศัพท์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –
Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.
(๒) “พิษ”
บาลีเป็น “วิส” อ่านว่า วิ-สะ รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาต = เข้าไป) + อ ปัจจัย
: วิสฺ + อ = วิส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือด” หมายถึง ยาพิษ, พิษ, พิษของสัตว์ (poison, virus, venom)
“วิส” ในบาลีเป็น “วิษ” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิษ : (คำนาม) พิษ; poison, wenom.”
ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยม ใช้อิงสันสกฤตเป็น “พิษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิษ, พิษ– : (คำนาม) สิ่งที่ร้ายเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือให้ความเดือดร้อนแก่จิตใจ; สิ่งที่ร้ายเป็นอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทําให้ตาย เจ็บปวด หรือพิการได้ บางอย่างเกิดจากแร่ เช่นสารหนู, บางอย่างเกิดจากต้นไม้ เช่นต้นแสลงใจ, บางอย่างเกิดจากสัตว์ เช่นงู. (ส. วิษ; ป. วิส).”
มล + พิษ = มลพิษ แปลว่า “พิษที่สกปรก” “สิ่งสกปรกที่เป็นพิษ” “สิ่งสกปรกและสิ่งที่เป็นพิษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“มลพิษ : (คำนาม) พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรกของสิ่งแวดล้อม เช่นในอากาศหรือในน้ำเป็นต้น; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้งกากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และหมายความรวมถึงรังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย. (อ. pollution).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำนิยามส่วนที่เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายออกทั้งหมด เหลือเพียง –
“มลพิษ : (คำนาม) พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรกของสิ่งแวดล้อม เช่นในอากาศหรือในน้ำเป็นต้น. (อ. pollution).”
“มลพิษ” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า pollution
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล pollution เป็นบาลีดังนี้ –
(1) dūsana ทูสน (ทู-สะ-นะ) = การทำร้าย, การทำให้เสียหาย
(2) kalusīkaraṇa กลุสีกรณ (กะ-ลุ-สี-กะ-ระ-นะ) = การทำให้เกิดความมืดมัว, การทำให้เกิดความชั่วร้าย
(3) pūtibhāva ปูติภาว (ปู-ติ-พา-วะ) = ความบูดเน่า, ภาวะที่เสียหาย
…………..
ข้อสังเกต :
pollution ในภาษาไทยนอกจากบัญญัติศัพท์เป็น “มลพิษ” แล้วยังบัญญัติว่า “ภาวะมลพิษ” อีกคำหนึ่ง
แต่คำว่า “ภาวะมลพิษ” ก็ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
น่าสังเกตว่า ทั้ง “มลพิษ” และ “ภาวะมลพิษ” ไม่ค่อยมีคนใช้มากนัก ที่เห็นใช้กันมากคือ “มลภาวะ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในศัพท์บัญญัติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
พึงระวังตั้งจิตของท่านให้ถูกตรงไว้เป็นนิตย์เถิด เพราะ –
: จิตดวงเดียวที่ตั้งไว้ผิด
: ก่อมลพิษได้ถึงแสนโกฎิจักรวาล
1-3-60