กาลเวลา (บาลีวันละคำ 961)
กาลเวลา
(๑) “กาล”
แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(1) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(2) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาบาลี “กาล” ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความตาย” ในความหมายนี้ “กาล” แปลตามศัพท์ว่า “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” “ทำตามเวลา” (เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำสิ่งนั้น หรือเมื่อถึงเวลา สิ่งนั้นก็มาทำหน้าที่)
(๒)“เวลา”
(1) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กำหนดความเสื่อมไป” “สิ่งที่เป็นไปโดยเป็นขณะเป็นครู่หนึ่งเป็นต้น” หมายถึง เวลา, กาลเวลา (time, point of time)
(2) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ปราศจากน้ำ” หมายถึง ฝั่ง, ฝั่งทะเล (shore, sea-shore)
(3) แปลตามศัพท์ว่า “แนวที่เป็นไปโดยเป็นเครื่องกำหนด” หมายถึง ขอบเขต, เขตแดน (limit, boundary), เกณฑ์, การจำกัด, การควบคุม (measure, restriction, control)
“กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ ใช้ในภาษาไทยอ่านว่า กาน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายจึงจะอ่านว่า กา-ละ เช่น กาลโยค อ่านว่า กา-ละ-โยก ไม่ใช่ กาน-ละ-โยก หรือ กาน-โยก
ส่วน “เวลา” ทั้งบาลีและไทยอ่านเหมือนกันว่า เว-ลา
ในบาลี “กาล” กับ “เวลา” (ที่หมายถึงกาลเวลา – time) มักจะใช้ในความหมายเดียวกัน แต่ไม่ได้ใช้ควบกันเป็น “กาลเวลา” เหมือนในภาษาไทย
กาลคือเวลา และเวลาก็คือกาล “กาลเวลา” จึงเป็นคำซ้อนธรรมดา อ่านว่า กาน-เว-ลา แต่จะอ่านแบบคำสมาสเป็น กา-ละ-เว-ลา ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กาล ๑, กาล– : เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).
(2) เวลา : ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกําหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น เช่น เวลาเป็นเงินเป็นทอง ขอเวลาสักครู่. (ป., ส.).
: ย้อนวันเวลาในอดีตกลับมาไม่ได้
: แต่ทำวันเวลาปัจจุบันให้ดีที่สุดได้
————–
(เนื่องมาจากคำถามของ Satha Identify)
#บาลีวันละคำ (961)
4-1-58