บาลีวันละคำ

ตัณหา (บาลีวันละคำ 962)

ตัณหา

อ่านว่า ตัน-หา

เขียนแบบบาลีเป็น “ตณฺหา

ตณฺหา” รากศัพท์มาจาก ตสฺ (ธาตุ = กระหาย) + ณฺห ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: ตสฺ > + ณฺห = ตณฺห + อา = ตณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่หื่นกระหาย” “เหตุให้หื่นกระหาย” “เหตุให้กระหายอยากจะดูดดื่ม” “เหตุให้อยากได้อยากทำสิ่งที่ต่ำทราม

ตณฺหา” หมายถึง ความต้องการ, ความอยาก, ความตื่นเต้น, ความเร่าร้อนเพราะความอยากอันยังไม่สมปรารถนา (craving, hunger for, excitement, the fever of unsatisfied longing); ความโหยหา, ความกระหาย (drought, thirst)

ในวรรณคดีบาลี คำว่า “ตณฺหา” เป็นชื่อธิดามารนางหนึ่งใน 3 นางที่อาสาพญามารผู้เป็นบิดาเข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่างๆ ในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ (อีก 2 นาง คือ อรดี และ ราคา)

ชื่อ “ตณฺหา” แปลว่า “ผู้ทำให้บุรุษที่พบเห็นเกิดความหื่นกระหาย

ตณฺหา” ในภาษาไทยนอกจากใช้ว่า “ตัณหา” แล้วยังมีคำว่า “ตฤษณา” (ตฺริด-สะ-หฺนา) “ดำฤษณา” (ดํา-ริด-สะ-หฺนา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ตัณหา : ความทะยานอยาก, โดยทั่วไปใช้หมายถึงความใคร่ในกาม. (ป.; ส. ตฺฤษฺณา).

(2) ตฤษณา :  (คำแบบ) ความปรารถนา, ความอยาก, ความดิ้นรน. (ส.; ป. ตณฺหา).

(3) ดำฤษณา : ความปรารถนา, ความดิ้นรน, ความอยาก, ความเสน่หา. (ส. ตฺฤษฺณา; ป. ตณฺหา).

ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่าที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด

ตัณหาร้อยแปด” นับอย่างไร ขอเก็บความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาแสดงดังนี้ :

(๑) ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก, ความร่านรน, ความปรารถนา, ความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว, ความแส่หา, มี 3 คือ :

(1) กามตัณหา – ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่าใคร่ (craving for sensual pleasures; sensual craving)

(2) ภวตัณหา – ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ (craving for existence)

(3) วิภวตัณหา – ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย (craving for non-existence; craving for self-annihilation)

(๒) ตัณหา 108 นับตามนัยอย่างง่าย :

(1) ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)

(2) 3 x ตัณหา 6 (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์) = 18

(3) 18 x 2 (ตัณหาส่วนภายใน คือที่อยู่ในตัวของแต่ละคน และตัณหาส่วนภายนอก คือที่อยู่ที่สิ่งนอกตัวของแต่ละคน) = 36

(4) 36 x กาล 3 (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = 108

: ความอยาก เป็นเรื่องธรรมดา

: แต่ควบคุมความอยากไว้ได้ ไม่ธรรมดา

#บาลีวันละคำ (962)

5-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *