สมุทัย (บาลีวันละคำ 960)
สมุทัย
อ่านว่า สะ-หฺมุ-ไท และ สะ-หฺมุด-ไท (ตาม พจน.54)
บาลีเป็น “สมุทย” อ่านว่า สะ-มุ-ทะ-ยะ
“สมุทย” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน) + อุ (ขึ้น) + ท (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อาคม”) + อย (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม, ลง ท อาคมระหว่าง อุ – อย
: สํ > สม + อุ = สมุ + ท = สมุท + อย = สมุทย + อ = สมุทย
ความรู้ :
(๑) ลองออกเสียง สะ-มะ-อุ-ทะ-อะ-ยะ-อะ (สํ > สม + อุ + ท + อย + อ) ช้าๆ แล้วเร่งให้เร็วขึ้นจะได้เสียง “สมุทย”
(๒) ในภาษาบาลีท่านว่าสระมีแต่เสียง ไม่ใช่พยัญชนะ เสียงสระทุกตัวที่เราเขียนเป็น อ อ่าง นั้น ความจริงตัว อ ไม่มี เช่น นม + โอ น่าจะเป็น “นมโอ” (นะมะโอ) แต่กลายเป็น “นโม” เพราะที่ “โอ” นั้นมีแต่ “โ-” แต่ไม่มีอักษร “อ” ดังนั้น -ม จึงเข้าผสมกับ โ- เป็น “โม”
(๓) ด้วยเหตุดังกล่าว สม + อุ + ท + อย + อ (สะ-มะ-อุ-ทะ-อะ-ยะ-อะ) จึงไม่เป็น “สมอุทอยอ” แต่เป็น “สมุทย” เพราะลบ อ ซึ่งเขียนตามแบบไทยออก คงไว้แต่เสียง
(๔) ดังนั้น ในกรณีศัพท์ที่ลง “อ ปัจจัย” (อะ-) ท้ายศัพท์ จึงไม่มีรูป “อะ” แต่เสียง อะ ก็ยังคงมีอยู่ เช่น “สมุทย” -ย พยางค์ท้ายก็ยังคงอ่านว่า -ยะ เพราะมี อ ปัจจัยอยู่ที่นั่น
“สมุทย” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งผล” หรือ “ธรรมเป็นแดนเกิด” ใช้ในความหมายว่า –
(1) การเกิดขึ้น, สมุฏฐาน (rise, origin)
(2) การพวยพุ่ง, การส่องแสง (bursting forth, effulgence)
(3) ผลิตผล, รายได้ (produce, revenue)
“สมุทย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมุทัย” ความหมายทางธรรมคือ “ตัณหา” อันเป็นเหตุเกิดแห่ง “ปัญหา” หรือทุกข์ เรียกเต็มคำว่า “ทุกขสมุทัย” เป็นข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
“สมุทัย” แม้จะมีคำแปลว่า “เหตุ” ซึ่งตรงกับคำว่า “ปัจจัย” ที่มีคำแปลว่า “เหตุ” เช่นกัน แต่ “สมุทัย” มีความหมายจำกัดกว่า คือ “เหตุเกิดแห่งทุกข์” ดังที่ท่านไขความว่าคือ “ตัณหา” ในขณะที่ “ปัจจัย” ไม่ได้จำกัดความหมายเฉพาะลงไปเช่นนี้
ถ้าดูที่คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ (จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ) จะเห็นได้ว่าไม่มีคำแปลที่ตรงกันเลย
โปรดเทียบคำแปลดังต่อไปนี้ :
“ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –
(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)
สรุปว่า “สมุทัย” หมายถึงตัณหา แต่ “ปัจจัย” ไม่ได้เล็งไปที่ตัณหา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมุทัย : (คำนาม) ต้นเหตุ, ที่เกิด, ในคำว่า ทุกขสมุทัย หมายถึง ต้นเหตุหรือที่เกิดแห่งทุกข์. (ป., ส.).”
“สมุทัย” พจน.54 บอกคำอ่านว่า สะ-หฺมุ-ไท และ สะ-หฺมุด-ไท เป็นการอ่านแบบไทย กล่าวคือ :
(1) สมุ- บาลีอ่านว่า สะ-มุ- ไม่ใช่ สะ-หฺมุ
(2) ท ที่ -ทัย ก็ไม่ใช่ตัวสะกดของ -มุ-
(3) ท เป็นตัวสะกด เช่น “สมุทฺท” (สะ-มุด-ทะ) คำนี้เราใช้ “สมุทร” และอ่านว่า สะ-หฺมุด เพราะคำเดิม ท เป็นตัวสะกด
(4) สมุทัย เดิมก็คงอ่านกันว่า สะ-หฺมุ-ไท แต่ต่อมามีคนอ่านผิดเป็น สะ-หฺมุด-ไทย และอ่านเช่นนี้กันมากขึ้น พจน.จึง “รับรอง” ว่าเป็นถูก ทำนองเดียวกับคำอื่นๆ เช่น “มกราคม” เดิมนั้นใครอ่านว่า มก-กะ-รา-คม ถือว่าอ่านผิด แต่ปัจจุบัน พจน.ก็รับรองว่าเป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปแล้ว เช่นเดียวกับคำอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
: ถ้ารู้ทันตัณหา ก็จะรู้ทันปัญหา
————–
(ส่งการบ้านของคุณครู พีร์ บุญโพธิ์แก้ว)
#บาลีวันละคำ (960)
3-1-58