บาลีวันละคำ

โทษานุโทษ (บาลีวันละคำ 1,576)

โทษานุโทษ

อ่านว่า โท-สา-นุ-โทด

ประกอบด้วย โทษ + อนุโทษ

(๑) “โทษ

บาลีเป็น “โทส” (โท-สะ) รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)

: ทุสฺ + = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน

โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)

(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)

หรือจำสั้นๆ :

(1) ความชั่ว (corruption)

(2) ความโกรธ (anger)

โทส” ในบาลีเป็น “โทษ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “โทษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ. (คำกริยา) อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).”

(๒) “อนุโทษ

เกิดจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม) + โทษ

: อนุ + โทษ = อนุโทษ แปลตามศัพท์ว่า “โทษน้อย” หมายถึงความผิดเล็กๆ น้อยๆ

คำว่า “อนุโทษ” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2554

อนุโทษ” เป็นคำที่ใช้เฉพาะเมื่อสนธิกับ “โทษ” เท่านั้น คือ –

: โทษ + อนุโทษ = โทษานุโทษ

อนุโทษ” เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “อนุโทส” ยังไม่พบศัพท์นี้ในคัมภีร์ รวมทั้ง “โทสานุโทส” ก็ไม่ปรากฏว่ามีใช้

เป็นอันว่า “โทษานุโทษ” เท่าที่ทราบในเวลานี้มีใช้เฉพาะในภาษาไทย

พจน.54 บอกไว้สั้นๆ ว่า

โทษานุโทษ : (คำนาม) ความผิดมากและน้อย.”

ข้อความที่ใช้คำว่า “โทษานุโทษ” ในภาษาไทย เช่น –

ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร ได้แก่ การไม่ตักเตือน สั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

…………..

: อุจจาระแม้เพียงนิดหน่อย ก็เหม็น

: ยาพิษเพียงเท่าตัวเล็น ก็ทำให้ตายได้

: ความผิดแม้จะน้อยนิดเพียงไร บัณฑิตย่อมไม่กระทำ

27-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย