จักรพรรดินี (บาลีวันละคำ 1,736)
จักรพรรดินี
ดูให้ดี-ไม่ใช่ wife ของจักรพรรดิ
อ่านว่า จัก-กะ-พัด-ดิ-นี
บาลีเป็น “จกฺกวตฺตินี” (จัก-กะ-วัด-ติ-นี)
แยกศัพท์เป็น จกฺกวตฺติ + อินี ปัจจัย
(๑) “จกฺกวตฺติ” แยกศัพท์เป็น จกฺก + วตฺติ
ก) “จกฺก” (จัก-กะ) รากศัพท์มาจาก –
1) จ (แทนศัพท์ว่า “คมน” = การไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) กฺวิ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ซ้อน กฺ
: จ + กฺ + กรฺ = จกฺกรฺ + กฺวิ = จกฺกรกฺวิ > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องทำให้เคลื่อนไปได้” = ล้อรถ (a wheel (of a carriage)
2) จกฺกฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ ปัจจัย
: จกฺกฺ + อ = จกฺก แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เบียดเบียน คือบดแผ่นดิน” = ล้อรถ (2) “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียน” = กงจักร, วงจักร (a discus used as a missile weapon)
3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย, แผลง ก ที่ ก-(รฺ) เป็น กฺก (กรฺ > กกรฺ) (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ทเวภาวะ” = การทำให้เป็นสอง) แล้วแปลง ก ตัวหน้าเป็น จ, แปลง ก ตัวหลังเป็น กฺก, ลบที่สุดธาตุ
: กรฺ + อ = กร > กกฺร > จกฺร > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้ทำการยึดครองได้” = กองทัพ, กองพล (an array of troops)
ข) “วตฺติ” (วัด-ติ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ณิ ปัจจัย, ลบ ณ (ณิ > อิ)
: วตฺตฺ + ณิ > อิ = วตฺติ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไป” “ผู้ยัง-ให้เป็นไป”
จกฺก + วตฺติ = จกฺกวตฺติ แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –
(1) “ผู้เป็นไปด้วยจักรรัตนะ” (คือประพฤติตามราชประเพณีมีปราบคนชั่วเป็นต้น)
(2)“ผู้ยังจักรรัตนะให้เป็นไป” (คือปล่อยให้ลอยไปข้างหน้าของตน)
(3) “ผู้หมุนวงล้อแห่งบุญ หรือวงล้อแห่งรถให้เป็นไปในเหล่าสัตว์ หรือทรงให้เหล่าสัตว์เป็นไปในวงล้อนั้น”
(4) “ผู้บำเพ็ญทศพิธราชธรรมถึงสิบปีเพื่อให้จักรรัตนะเกิดขึ้น”
(5) “ผู้ปฏิบัติจักรธรรม” (คือธรรมเนียมปฏิบัติ ๑๐ หรือ ๑๒ ประการ)
(6) “ผู้ยังอาณาจักรและธรรมจักรให้เป็นไปในหมู่สัตว์ทั้งสี่ทวีป”
(7) “ผู้ยังจักรคืออาณาเขตให้เป็นไปไม่ติดขัด”
(8) “ผู้ยังจักรคือทานอันยิ่งใหญ่ให้เป็นไป”
“จกฺกวตฺติ” สันสกฤตเป็น “จกฺรวรฺตินฺ” ภาษาไทยใช้เป็น “จักรวรรดิ” แล้วแผลงเป็น “จักรพรรดิ”
: จกฺกวตฺติ > จกฺรวรฺตินฺ > จักรวรรดิ > จักรพรรดิ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“จักรพรรดิ : (คำนาม) พระราชาธิราช, ประมุขของจักรวรรดิ, โบราณเขียนว่า จักรพัตราธิราช ก็มี. (ส. จกฺรวรฺตินฺ; ป. จกฺกวตฺติ).”
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่: “จักรพรรดิ” บาลีวันละคำ (1,484) 27-6-59)
(๒) จกฺกวตฺติ + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จกฺกวตฺติ + อินี = จกฺกวตฺตินี > จักรพรรดินี
…………..
อภิปราย :
“อินี” ปัจจัยนี้ใช้ลงหลังคำนามที่เป็นปุงลิงค์ คือคำที่หมายถึงชาย เพื่อทำให้นามคำนั้นหมายถึงหญิง
คำประเภทนี้ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย เช่น –
: เศรษฐี = ชายผู้มั่งมี
: เศรษฐินี = หญิงผู้มั่งมี
: ภิกษุ (บาลี: ภิกฺขุ) = ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา
: ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุนี, ภิกฺขุ + อินี ลบ อิ) = หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา
: คหบดี (บาลี: คหปติ) = ชายที่เป็นเจ้าบ้าน
: คหปตานี (บาลี: คหปติ + อินี แปลง อิ ที่ ติ และ อิ ที่ อินี เป็น อา) = หญิงที่เป็นเจ้าบ้าน
…………..
โดยนัยนี้
: จกฺกวตฺติ > จักรพรรดิ = ชายผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้ชาย)
: จกฺกวตฺตินี > จักรพรรดินี = หญิงผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ (พระเจ้าจักรพรรดิผู้หญิง)
และโดยนัยเดียวกัน
: ราชา = ชายผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
: ราชินี = หญิงผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ความเข้าใจในภาษาไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น เราเข้าใจกันว่า –
“จักรพรรดินี” คือ wife ของจักรพรรดิ (ไม่มีจักรพรรดิ ก็มีจักรพรรดินีไม่ได้)
“ราชินี” คือ wife ของราชา (ไม่มีราชา ก็มีราชินีไม่ได้)
แม้แต่ “ภิกษุณี” ยังถูกมัคคุเทศก์บางคนบอกฝรั่งว่า คือ wife ของภิกษุ
มียกเว้นบ้าง คือ “เศรษฐินี” ยังไม่ถูกเกณฑ์ให้เป็น wife ของเศรษฐี
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านทราบฤๅหาไม่ว่า –
: สถานะบางอย่างเป็นได้เฉพาะบางเพศ
: แต่เป็นผู้สิ้นอาสวกิเลส ไม่ต้องดิ้นรนเปลี่ยนเพศก็มีสิทธิ์เป็น
6-3-60