บาลีวันละคำ

มรรคผล (บาลีวันละคำ 1,735)

มรรคผล

อ่านว่า มัก-ผน

แยกศัพท์เป็น มรรค + ผล

(๑) “มรรค

บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + ปัจจัย

: มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป

(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค

: มชฺช + = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง

(3) (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน

(4) (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ

: + คฺ + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส

มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)

(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่

(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มรรค, มรรค-, มรรคา : (คำนาม) ทาง (ส. มารฺค; ป. มคฺค); เหตุ, ใช้คู่กับ ผล ว่า เป็นมรรคเป็นผล (ส. มารฺค; ป. มคฺค); ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับ ผล มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค, ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็น ๑ ในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา-การเจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ-การเลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ-ความพยายามชอบ ๑ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจชอบ ๑ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).”

(๒) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร

ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ผล : (คำนาม) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง; สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว; ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล; ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค; ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล; จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

มคฺค + ผล = มคฺคผล บาลีอ่านว่า มัก-คะ-ผะ-ละ แปลว่า “มรรคและผล”

มคฺคผล” ภาษาไทยเขียน “มรรคผล” อ่านว่า มัก-ผน (ไม่ใช่ มัก-คะ-ผน) เป็นการเอาคำว่า “มรรค” และ “ผล” มาประสมกันตามแบบไทย และให้ความหมายแบบไทย

…………..

อภิปราย :

ในภาษาชาววัด “มรรคผล” มักพูดรวมไปกับนิพพานว่า “มรรคผลนิพพาน” มีจำนวนกำกับไว้ด้วยว่า มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 มีชื่อเรียกว่า “นวโลกุตรธรรม” แปลว่า โลกุตรธรรมเก้า เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ตามหลักสัจธรรม เมื่อบุคคลปฏิบัติจิตภาวนาจนได้บรรลุ “มรรค” (ภาษาธรรมเรียกว่า “มรรคจิต”) ก็จะบรรลุ “ผล” ในลำดับต่อไปทันทีไม่มีอะไรมาคั่น (อันเป็นความหมายหนึ่งของธรรมคุณที่ว่า “อกาลิโก” = ไม่ประกอบด้วยกาล คือไม่มีช่องว่างระหว่างมรรคกับผล) เรียกว่าพอถึงมรรคก็ถึงผลทันที จึงเรียกรวมกันว่า “มรรคผล

แต่ข้อเท็จจริงในระดับสังคม เมื่อทำ “มรรค” หรือสร้างเหตุแล้วอาจไม่บรรลุ “ผล” ที่ต้องการทันที หรือบางทีก็ไม่ได้รับผลตามที่หวัง คำว่า “มรรคผล” จึงมุ่งไปที่ผลอย่างเดียว เมื่อทำอะไรที่หวังผลตอบแทนแล้วไม่ได้ผล คำนี้จึงมีความหมายในทางลบไปโดยปริยาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มรรคผล : (ภาษาปาก) (คำนาม) ผล, มักใช้ในความปฏิเสธ เช่น ไม่เป็นมรรคผล ไม่ได้มรรคผลอะไร.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านสังเกตบ้างฤๅหาไม่ว่าในสังคมของเรานี้ –

: บางมนุษย์ก็สัปดน เรียกร้องผลโดยไม่สร้างเหตุ

: บางมนุษย์ก็น่าสังเวช ก่อเหตุแล้วไม่รับผิดชอบต่อผล

5-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *