ศีรษะ ไม่ใช่ ศรีษะ (บาลีวันละคำ 1,739)
ศีรษะ ไม่ใช่ ศรีษะ
ของสูงที่ไม่ควรผิดซ้ำซาก
“ศีรษะ” อ่านว่า สี-สะ
“ศีรษะ” เป็นคำที่เขียนอิงสันสกฤต บาลีเป็น “สีส” อ่านว่า สี-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สี (ธาตุ = อยู่, นอน) + ส ปัจจัย
: สี + ส = สีส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่อยู่ของเหาเป็นต้น” (คำแปลนี้เป็นอันแสดงความจริงว่า คนโบราณบนหัวต้องมีเหา คนสมัยใหม่ที่มีวิธีรักษาความสะอาดของหัวเป็นอย่างดีย่อมนึกไม่เห็นว่า “ศีรษะ” จะแปลอย่างนี้ได้อย่างไร)
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ส ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ สิ เป็น อี (สิ > สี)
: สิ + ส = สิส > สีส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่ผูกผมโดยเกล้าเป็นมวย”
“สีส” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ศีรษะ (the head [of the body])
(2) ส่วนสูงที่สุด, ยอด, ข้างหน้า (highest part, top, front)
(3) ข้อสำคัญ (chief point)
(4) ดอก, รวง (ของข้าวหรือพืช) (panicle, ear [of rice or crops])
(5) หัว, หัวข้อ (เป็นข้อย่อยของเรื่อง) (head, heading [as subdivision of a subject])
อภิปราย :
จับหลักไว้ก่อนว่า “สีส” ในบาลี เป็น “ศีรฺษ” ในสันสกฤต
โปรดสังเกตว่า
“สีส” บาลี สระ อี อยู่บน ส
“ศีรฺษ” สันสกฤต สระ อี ก็อยู่บน ศ ไม่ได้อยู่บน ร
ดังนั้น เมื่อเขียนในภาษาไทย จึงเป็น “ศีรษะ” – สระ อี อยู่บน ศ
“สีส” ในบาลี เขียนตามเสียงอ่านในภาษาไทยเป็น “สีสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สีสะ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“สีสะ ๒ : (คำนาม) ศีรษะ. (ป.; ส. ศีรฺษ).”
ก็คือบอกว่า ถ้าเขียน “สีสะ” ก็หมายถึง “ศีรษะ” นั่นเอง
ที่คำว่า “ศีรษะ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“ศีรษะ : (คำนาม) หัว (เป็นคําสุภาพที่ใช้แก่คน). (ส.; ป. สีส)”
เป็นการบอกให้รู้ว่า “ศีรษะ” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สีส”
“ศีรษะ” เขียนแบบสันสกฤตเป็น “ศีรฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศีรฺษ : (คำนาม) ‘ศีร์ษะ,’ ศิรัส, เศียร, หัว; the head.”
…………..
ทำไมคนจึงชอบเขียน “ศีรษะ” เป็น “ศรีษะ”
คำตอบคือ คนส่วนมากติดคำว่า “ศรี” (สระ อี อยู่บน ร) ซึ่งอ่านว่า สี
เมื่อได้ยินคำว่า “ศีรษะ” ซึ่งอ่านว่า สี-สะ และนึกเห็นว่ามี ศ ศาลา และ ร เรือ จิตก็น้อมไปถึง “ศรี” ทันทีโดยไม่ทันระแวงว่า “ศีร-” ไม่ใช่ “ศรี”
“ศรี” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย สันสกฤตเป็น “ศฺรี” (มีจุดใต้ ศ, สระ อี อยู่บน ร)
คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”
จะเห็นได้ว่า “ศฺรี – ศรี” ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องอะไรกับ “หัว” หรือ the head เลยแม้แต่น้อย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –
“ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).”
เป็นอันได้ความรู้อีกด้วยว่า “ศรี” ไทย หรือ “ศฺรี” สันสกฤตนั้น บาลีเป็น “สิริ” และ “สิรี”
“สิริ” และ “สิรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“สิริ ๒, สิรี : (คำนาม) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).”
และ “สิริ” (ส เสือ) คำนี้เองคนก็ชอบเขียนผิดเป็น “ศิริ” (ศ ศาลา) เช่นคำว่า “สิริมงคล” ก็มักเขียนเป็น “ศิริมงคล”
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอเคล็ดลับในการบังคับไม่ให้เขียนผิดอีกต่อไป นั่นคือ คำว่า “ศีรษะ” ให้อ่านในใจว่า สี-ระ-สะ และทุกครั้งที่จะเขียนคำนี้ก็ให้นึกถึง ศี-ร-ษะ
วิธีนี้ประยุกต์ใช้กับคำอื่นๆ ได้ด้วย เช่นคำว่า –
“เสบียง” ที่มักเขียนผิดเป็น “สะเบียง” ก็ให้อ่านในใจว่า เส-บี-ยง = เสบียง
“ปรารถนา” ที่มักเขียนผิดเป็น “ปราถนา” ก็ให้อ่านในใจว่า ปฺรา-รถ-นา = ปฺรารถนา
“สังเกต” ที่มักเขียนผิดเป็น “สังเกตุ” ก็ให้อ่านในใจว่า สัง-เก-ตะ = สังเกต
เรื่องแบบนี้แต่ละคนย่อมมีศิลปะหรือความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป แต่เป็นความสามารถที่ทุกคนสามารถลอกเลียนแบบได้ ไม่มีโทษแต่ประการใด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สะกดคำผิด ยังมีสิทธิ์แก้ตัว
: แต่ประพฤติชั่ว นรกไม่ให้อภัย
—————
(ภาพ “ระวังมะพร้าวหล่นโดนศรีษะ” จากโพสต์ของ Pornkawin Sangsinchai)
9-3-60