อุบาสิกา (บาลีวันละคำ 1,738)
อุบาสิกา
จะมีใครพัฒนาให้เป็นสตรีสากล
อ่านตามตรงตัวว่า อุ-บา-สิ-กา
“อุบาสิกา” บาลีเป็น “อุปาสิกา” (อุ-ปา-สิ-กา) ประกอบขึ้นจาก อุปาสก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
1) “อุปาสก” (อุ-ปา-สะ-กะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้ ) + อาสฺ (ธาตุ = นั่ง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: อุป + อาสฺ = อุปาสฺ + ณฺวุ > อก : อุปาสฺ + อก = อุปาสก แปลตามศัพท์ว่า “ชายผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย”
“อุปาสก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสก” (อุ-บา-สก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุบาสก : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสก).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาสก” ว่า a devout or faithful layman, a lay devotee (ฆราวาสผู้ซื่อสัตย์หรือจงรักภักดี, อุบาสก)
2) อุปาสก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุปาส + อิ + ก = อุปาสิก + อา = อุปาสิกา
อีกนัยหนึ่ง แปลง ณฺวุ เป็น อก แล้วแปลง อก เป็น อิกา เพื่อทำให้เป็นอิตถีลิงค์
: อุป + อาสฺ = อุปาสฺ + ณฺวุ > อก > อิกา : อุปาสฺ + อิกา = อุปาสิกา
“อุปาสิกา” แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย”
“อุปาสิกา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสิกา” (อุ-บา-สิ-กา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุบาสิกา : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสิกา).”
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [259] แสดงคุณสมบัติของอุบาสก-อุบาสิกา ที่ปรากฏในคัมภีร์ดังนี้ –
อุบาสกธรรม 5 : ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติ หรือองค์คุณของอุบาสก อย่างเยี่ยม (Upāsaka-dhamma: qualities of an excellent lay disciple)
1. มีศรัทธา (to be endowed with faith)
2. มีศีล (to have good conduct)
3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)
4. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)
5. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)
ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ ธรรมของอุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)
…………..
ในคัมภีร์ระบุนามอุบาสิกาบริษัทที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะคือผู้เลิศในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลายไว้ 10 ท่าน ดังนี้ –
1. สุชาดาเสนานีธิดา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม
2. วิสาขามิคารมารดา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นทายิกา
3. ขุชชุตรา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นพหูสูต
4. สามาวดี เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา
5. อุตตรา นันทมารดา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้บำเพ็ญฌาน
6. สุปปวาสาโกลิยธิดา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้ถวายของประณีต
7. สุปปิยาอุบาสิกา เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก (ผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ)
8. กาติยานี เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้มีปสาทะไม่หวั่นไหว
9. นกุลมารดาคหปตานี เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้สนิทคุ้นเคย
10. กาฬีอุบาสิกา ชาวกุรรฆรนคร เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้มีปสาทะด้วยสดับคำกล่าวขาน
ท่านผู้สนใจ-โดยเฉพาะอุบาสิกาทั้งปวง-พึงขวนขวายศึกษาชีวประวัติท่านเหล่านี้ดูเถิด
…………..
วันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล หรือ International Women’s Day
…………..
ดูก่อนภราดา!
สตรีไทยจะทำได้ฤๅหาไม่ –
: วันพระถือศีลแปดกันทั่วหน้า
วันธรรมดาถือศีลห้ากันทั่วตน
: สร้างมิติใหม่ “สตรีสากล”
ด้วยคุณธรรมของอุบาสิกา
8-3-60