โยคี (บาลีวันละคำ 1,740)
โยคี
ทำไม่ดีก็ไปนรกได้ไว
อ่านตรงตัวว่า โย-คี
“โยคี” ประกอบด้วย โยค + ณี ปัจจัย
(๑) “โยค” อ่านว่า โย-คะ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ช เป็น ค
: ยุชฺ + ณ = ยุชณ > ยุช > โยช > โยค แปลตามศัพท์ว่า (1) “คุณอันบุคคลพึงประกอบ” = ความเพียร (2) “กิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์” = กิเลส
“โยค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แอก, การเทียม (yoke, yoking)
(2) ความเกี่ยวพัน, การใช้; ความสัมพันธ์, การสมาคมกัน; การบรรจบกัน (connection with, application to; relation, association; conjunction)
(3) ห่วง, ความสัมพันธ์; การผูกพัน, หรือสิ่งที่ผูกพันต่อการเกิดใหม่ (bond, tie; attachment, or what yokes to rebirth)
(4) ความตั้งใจ, ความพยายาม, การประกอบ, ความอุตสาหะ (application, endeavour, undertaking, effort)
(5) ความไตร่ตรอง, การสำรวจใจ, การเอาใจจดจ่อ (pondering over, concentration, devotion)
(6) อำนาจ, อิทธิพล, อุบาย, แผนการ (power, influence, device, scheme)
(7) หนทาง, เครื่องมือ, เครื่องเยียวยา (means, instrument, remedy)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โยค-, โยคะ : (คำนาม) การประกอบ, การใช้, การร่วม; กิเลส; ความเพียร; วิธีบําเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี; (โหร) การที่ดาวนพเคราะห์ตั้งแต่ ๒ ดวงขึ้นไปมารวมกันในราศีเดียว. (ป., ส.).”
(๒) โยค + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี)
: โยค + ณี > อี : โยค + อี = โยคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบในการเจริญกรรมฐานโดยปกติ”
“โยคี” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ตั้งหน้ากระทำ, ทำงาน, ใช้ (applying oneself, working, using)
(2) ผู้อุทิศตนให้กับศาสนา, ผู้ตั้งใจศึกษา, ผู้แสดงความอุตสาหะ, นักปราชญ์, คนฉลาด (one who devotes himself to spiritual things, an earnest student, one who shows effort, a philosopher, wise man)
“โยคี” ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“โยคี : (คำนาม) นักบวชผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ฤษีพวกหนึ่ง. (ป.; ส. โยคินฺ ว่า ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ).”
…………..
อภิปราย :
คำว่า “โยค” หมายถึงความเพียรก็ได้ หมายถึงกิเลสก็ได้
ดังนั้น คำว่า “โยคี” จึงแปลว่า “ผู้มีความเพียร” ก็ได้ แปลว่า “ผู้มีกิเลส” ก็ได้ด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ
นิรยายูปกฑฺฒติ
(ตายนสูตร สคาถวรรค สังยุตนิกาย 15/239)
: โยคีที่ประพฤติสกปรก
: คือผู้รับเชิญไปนรกโดยไม่รู้ตัว
10-3-60