อัปมงคล (บาลีวันละคำ 968)
อัปมงคล
อ่านว่า อับ-ปะ-มง-คน
บาลีเป็น “อปมงฺคล” อ่านว่า อะ-ปะ-มัง-คะ-ละ
ประกอบด้วย อป + มงฺคล
“อป” เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไวยากรณ์ให้ความหมายว่า “ปราศ, หลีก”
“ปราศ” ก็คือ “ปราศจาก” มีความหมายว่า พ้นไป, ไม่มี (ไม่เคยมี หรือเคยมี แต่หายไป หมดไป)
“หลีก” คือ ขยับไปให้พ้นที่เดิม, ควรจะเข้ามาหา แต่เลี่ยงออกไปเสีย
“มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์” (3) “เหตุที่ตัดความชั่ว”
ความหมายที่เข้าใจกัน คือ :
(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)
(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)
“มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
“มงฺคล” ในภาษาไทยใช้ว่า “มงคล” (มง-คน)
อป + มงฺคล = อปมงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ปราศจากมงคล”
“อปมงฺคล” ในภาษาไทยใช้ว่า “อปมงคล” (อะ-ปะ-มง-คน) และ “อัปมงคล” (อับ-ปะ-มง-คน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายว่า “ปราศจากมงคล, ไม่เจริญ, เป็นลางร้าย”
คำว่า “อปมงฺคล” ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี แต่ความหมายเดียวกันนี้บาลีใช้คำว่า “อวมงฺคล” (อะ-วะ-มัง-คะ-ละ) ประกอบด้วย อว + มงฺคล
“อว” เป็นคำอุปสรรคเช่นเดียวกับ “อป” แปลว่า “ลง” ที่ตรงข้ามกับ “ขึ้น” มีความหมายว่า ต่ำทราม, เสื่อมเสีย, เสียหาย (ตรงข้ามกับ “อภิ” ที่แปลว่า สูงส่ง, ยิ่งใหญ่, ดีงาม)
“อวมงฺคล” มีความหมายดังนี้ :
(1) ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ไม่เป็นมงคล, มีโชคไม่ดี, มีลางร้าย (of bad omen, unlucky, infaustus)
(2) ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง โชคร้าย, ลางร้าย (bad luck, ill omen)
“อวมงฺคล” ในภาษาไทยใช้ว่า “อวมงคล” (อะ-วะ-มง-คน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายว่า “ที่มิใช่มงคล, เรียกงานทําบุญเกี่ยวกับการศพว่า งานอวมงคล”
: เว้นชั่ว อัปมงคลก็หมดทันที
: ทำดี เป็นอภิมงคลทันใด
#บาลีวันละคำ (968)
11-1-58