บาลีวันละคำ

กุศลจิต (บาลีวันละคำ 1,746)

กุศลจิต

ความสุขสนิทที่ไม่ต้องซื้อหา

อ่านว่า กุ-สน-ละ-จิด

แยกศัพท์เป็น กุศล + จิต

(๑) “กุศล” ( –ศล ศาลา)

บาลีเป็น “กุสล” ( –สล เสือ) อ่านว่า กุ-สะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุส (กิเลส; หญ้าคา; โรค) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อุ ที่ ลุ (ลุ > )

: กุส + ลุ = กุสลุ > กุสล + = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมดีที่ตัดกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน” (2) “กรรมที่ตัดบาปธรรมได้เหมือนหญ้าคา” (“ธรรมที่ตัดความชั่วอันเป็นดุจหญ้าคา”) (3) “ภาวะที่ตัดโรคอันนอนเนื่องอยู่ในร่างกายออกไปได้” (ตามข้อ (3) นี้หมายถึงความไม่มีโรค)

(2) กุ (แทนศัพท์ “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด, น่ารังเกียจ) + สลฺ (ธาตุ = หวั่นไหว; ปิด, ป้องกัน) + ปัจจัย

: กุ + สลฺ = กุสล + = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่ยังบาปธรรมอันน่ารังเกียจให้หวั่นไหว” (2) “กรรมเป็นเครื่องปิดประตูอบายที่น่ารังเกียจ

(3) กุส (ญาณ, ความรู้) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ลา (ลา > )

: กุส + ลา = กุสลา > กุสล + = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่พึงถือเอาได้ด้วยญาณที่ทำให้บาปเบาบาง” (“ความรู้ที่ทำความชั่วร้ายให้เบาบาง”) (2) “ผู้ถือเอากิจทั้งปวงด้วยปัญญา

กุสล” ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความดีงาม, กรรมดี, สิ่งที่ดี, กุศลกรรม, บุญ (good thing, good deeds, virtue, merit, good consciousness)

กุสล” ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ฉลาด, เฉียบแหลม, สันทัด, ชำนาญ; ดีงาม, ถูกต้อง, เป็นกุศล (clever, skilful, expert; good, right, meritorious)

บาลี “กุสล” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “กุศล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กุศล : (คำนาม) สิ่งที่ดีที่ชอบ, บุญ. (คำวิเศษณ์) ฉลาด. (ส.; ป. กุสล).”

(๒) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

กุสล + จิตฺต = กุสลจิตฺต > กุศลจิต ใช้ทับศัพท์ว่า “กุศลจิต” แปลว่า “จิตเป็นกุศล

ในทางวิชาการ “กุศลจิต” เป็นคำที่ใช้ในวงการศึกษาพระอภิธรรม หมายถึงจิตที่เป็นกุศลจำแนกเป็นลักษณะต่างๆ กันออกไป กล่าวคือ :-

กุศลจิตโดยย่อมี 21 ดวง คือ

– มหากุศลจิต 8

– รูปาวจรกุศลจิต 5

– อรูปาวจรกุศลจิต 4

– โลกุตตรกุศลจิต 4

กุศลจิตโดยพิสดารมี 37 ดวง คือ

– มหากุศลจิต 8

– รูปาวจรกุศลจิต 5

– อรูปาวจรกุศลจิต 4

– โลกุตตรกุศลจิต 20

ผู้ประสงค์จะทราบรายละเอียด พึงขวนขวายสืบค้นศึกษาในตำราพระอภิธรรมนั้นเถิด

แต่ในความหมายสามัญทั่วไป “กุศลจิต” คือจิตใจที่ใฝ่ในทางดี ใฝ่รู้ ใฝ่ฉลาด มีเหตุผล เข้าใจสภาวะต่างๆ ถูกต้องตามเป็นจริง เป็นจิตที่ที่ผ่องใส มีกำลัง พร้อมที่จะทำดี พูดดี คิดดี และมุ่งก้าวหน้าในทางธรรมจนประลุถึงความโปร่งโล่งเป็นอิสระ สว่าง สงบสุขเต็มที่

ในคัมภีร์พระธรรมบท มีพระพุทธพจน์ว่า –

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา

มโนเสฏฺฐา มโนมยา

มนสา เจ ปสนฺเนน

ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ สุขมนฺเวติ

ฉายาว อนุปายินี.

สภาวะทั้งหลายมีใจเป็นผู้นำ

มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ

ถ้ามีใจผ่องใส

จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม

เพราะเหตุนั้น ความสุขย่อมติดตามเขาไป

ดุจเงาตามตัวฉะนั้น

…………..

คนเก่าจึงเตือนเสมอๆ ว่า ก่อนจะทำอะไร จงทำใจให้เป็นกุศล

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านประสงค์จะมีทรัพย์ ฤๅประสงค์จะรับความสุข?

: มีทรัพย์ ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีสิทธิ์ได้รับสุขสมคิด

: แต่ถ้าฝึกใจให้เป็นกุศลจิต ท่านก็มีสิทธิ์อยู่เต็มหัวใจ

16-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *