บาลีวันละคำ

องคุลิมาล (บาลีวันละคำ 1,745)

องคุลิมาล

อย่าใช้จินตนาการสะกดกันตามใจ

อ่านว่า อง-คุ-ลิ-มาน

แยกศัพท์เป็น องคุลิ + มาล

(๑) “องคุลิ

บาลีเขียน “องฺคุลิ” อ่านว่า อัง-คุ-ลิ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป) + อุลิ ปัจจัย

: องฺคฺ + อุลิ = องฺคุลิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “นิ้วที่ไป” (คือชี้ไปข้างหน้า) หมายถึง นิ้วมือ (a finger)

ในบาลี ศัพท์นี้เป็น “องฺคุลี” ( –ลี สระ อี) อีกรูปหนึ่ง

องฺคุลิ” และ “องฺคุลี” ในภาษาไทยใช้เป็น “องคุลิ” (อง-คุ-ลิ) และ “องคุลี” (อง-คุ-ลี) แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เฉพาะ “องคุลี” รูปเดียว บอกไว้ว่า –

องคุลี : (คำนาม) นิ้วมือ; ชื่อมาตราวัดแต่โบราณ ยาวเท่ากับข้อปลายของนิ้วกลาง. (ป., ส.).”

(๒) “มาล

ศัพท์เดิมเป็น “มาลา” รากศัพท์มาจาก –

(1) มา (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + อล ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: มา + อล = มาล + อา = มาลา แปลว่า “สิ่งอันคนทะนุถนอม

(2) มาลฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อล ปัจจัย, ลบ + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: มาลฺ + อล = มาล + อา = มาลา แปลว่า “สิ่งอันคนคล้อง

(3) มา (ภมร, ผึ้ง) + ลสฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + กฺวิ ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์, ลบ กฺวิ และ

: มา + ลสฺ > = มาล + กฺวิ = มาล + อา = มาลา แปลว่า “เป็นที่ยินดีแห่งหมู่ภมร

คำว่า “มาลา” (อิตถีลิงค์) นักเรียนบาลีมักแปลว่า “ระเบียบ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ดอกไม้ (หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ที่นำมาร้อยให้เป็นระเบียบ (a garland or wreath of flowers)

(2) ระเบียบ, แนว, แถว (row, line)

มาลา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาลา : (คำนาม) ดอกไม้, ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี มักมีใบไม้เป็นส่วนประกอบด้วย สำหรับวางที่อนุสาวรีย์ พระบรมรูป หรือศพ เป็นต้น เพื่อเป็นเกียรติหรือแสดงความเคารพ เรียกว่า พวงมาลา; หมวก (ราชาศัพท์ใช้ว่า พระมาลา); สร้อยคอ; สาย, แถว. (ป., ส.).”

องฺคุลิ + มาลา = องฺคุลิมาลา แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย

องฺคุลิมาลา” ใช้เป็นคุณศัพท์ของคำที่เป็นปุงลิงค์ (คำที่หมายถึงเพศชาย) จึงต้องมีรูปเป็นปุงลิงค์ไปด้วย คือต้องเป็น “องฺคุลิมาล” อ่านว่า อัง-คุ-ลิ-มา-ละ

องฺคุลิมาล” เขียนแบบไทยเป็น “องคุลิมาล” อ่านว่า อง-คุ-ลิ-มาน เป็นนามของพระอรหันต์องค์หนึ่ง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

องคุลิมาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน”) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย”) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

…………..

อภิปราย :

ชื่อ “องคุลิมาล” ในคัมภีร์สะกดว่า “องฺคุลิมาล” (-ลิ– สระ อิ ที่สะกดเป็น –ลี– สระ อี ก็มีบ้าง แต่พบน้อย) เพราะฉะนั้น เมื่อเขียนในภาษาไทยจึงต้องเป็น “องคุลิมาล” (หรือ “องคุลีมาล”)

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นมีผู้สะกดชื่อนี้เป็น องค์คุลีมาร และ องคุลีมาลย์ และอาจมีสะกดแปลกๆ อีกหลายรูป

ชื่อ “องคุลิมาล” เป็นวิสามานยนาม (proper noun) คือชื่อเฉพาะหรือชื่อส่วนตัว ต้องสะกดให้ตรงตามที่เจ้าของชื่อกำหนด (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือตามหลักฐานในคัมภีร์)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผิดแล้วกลับใจ ได้เป็นพระอรหันต์ชื่อดัง

: ผิดแล้วดันทุรัง ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อใด

15-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *