บาลีวันละคำ

คติพจน์ (บาลีวันละคำ 2,671)

คติพจน์

ฤๅจะหมดยุคสมัย

อ่านว่า คะ-ติ-พด

ประกอบด้วยคำว่า คติ + พจน์

(๑) “คติ

เป็นคำบาลีตรงตัว อ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คติ > )

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ในเชิงขยายความไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอดังนี้ –

(1) going, going away, (opp. āgati coming); direction, course, career (การไป, การจากไป, (ตรงข้าม “อาคติ” การมา); ทิศทาง, แนว, วิถีชีวิต)

(2) going away, passing on; course, esp after death, destiny, as regards another (future) existence (การจากไป, การผ่านไป; ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพ (อนาคต) อื่น)

(3) behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element, especially characterized as sugati & duggati, a happy or an unhappy existence (ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยายลักษณะเป็น “สุคติ” และ “ทุคฺคติ”, ความเป็นอยู่อันสุขสบายหรือเป็นทุกข์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.).

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

(๒) “พจน์

บาลีเป็น “วจน” (วะ-จะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วจ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด

วจน” ในบาลีหมายถึง –

(1) คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)

(2) วิธีแสดงออกซึ่งคำพูด, พจน์, การแสดงออก (way of speech, term, expression)

บาลี “วจน” ภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม จึงเป็น “พจน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “พจน-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า พด-จะ-นะ- และ “พจน์” (การันต์ที่ ) อ่านว่า พด บอกไว้ว่า –

พจน-, พจน์ ๑ : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา. (ป. วจน).”

คติ + พจน์ = คติพจน์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คติพจน์ : (คำนาม) ถ้อยคําที่เป็นแบบอย่าง.”

คติพจน์” เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบคำอังกฤษว่า motto

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล motto ว่า ภาษิต, ถ้อยคำที่คัดมาจากหนังสือ, หลักในใจ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล motto เป็นบาลีดังนี้:

(1) upadesavākya อุปเทสวากฺย (อุ-ปะ-เท-สะ-วาก-ยะ [วาก-ยะ ออกเสียง วาก-เกี๊ยะ]) = ข้อความอันเป็นคำแนะนำ

(2) ādisiyapāṭha อาทิสิยปาฐ (อา-ทิ-สิ-ยะ-ปา-ถะ) = ถ้อยคำที่ควรจารึกไว้

อภิปราย :

คนไทยในสมัยหนึ่ง เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มสาวอันถือกันว่าเป็นวัยที่จะต้องคิดคำนึงถึงอนาคตและมุ่งมั่นไปข้างหน้าเพื่อสร้างตัว มักนิยมยึดถือถ้อยคำหรือข้อความบางอย่างที่ตนพึงพอใจว่าเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย เรียกถ้อยคำชนิดนั้นว่า “คติพจน์

มักรู้สึกกันว่า เป็นความภาคภูมิใจลึกๆ ที่ตนมี “คติพจน์” ประจำใจหรือประจำชีวิต และพยายามดำเนินชีวิตให้เป็นไปตาม “คติพจน์” ที่ตนยึดถือ

ไม่แน่ใจว่าคนไทยยุคใหม่ยังมีค่านิยมแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า หรือมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระไปเสียแล้ว?

…………..

ดูก่อนภราดา!

คติพจน์” ของผู้เขียนบาลีวันละคำ –

: เป็นอะไร

: ไม่สำคัญเท่ากับทำอะไร

เพราะ –

: สิ่งที่คุณเป็น อยู่ได้นานที่สุดก็แค่ตาย

: แต่สิ่งที่คุณทำ อยู่ได้เลยตาย

#บาลีวันละคำ (2,671)

5-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย