ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๖)
ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๖)
—————–
ปัญหาคาใจของคนใส่บาตรวันนี้ก็คือ โยมใส่บาตรแล้ว พระยืนให้พรตรงนั้นเลย ถูกหรือผิด
จะตอบปัญหานี้ ต้องถอยไปตั้งหลัก นั่นคือศึกษาปฏิปทาของพระสมัยก่อนว่าท่านปฏิบัติอย่างไร
ได้ข้อยุติแน่นอนว่าพระสมัยก่อนไม่ได้ยืนให้พรกันข้างถนนเหมือนทุกวันนี้
ดังที่เล่าแล้วว่า พระอาจารย์สมัยผมบวชเณรท่านสั่งสอนชัดเจนว่า ไปบิณฑบาตไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ต้องพูดอะไรกับญาติโยม
เปิดบาตร-ปิดบาตร แล้วเดินจากไปเงียบๆ ภาวนา-นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา.
สมัยผมบวช ไปบิณฑบาต ไม่มีโยมคนไหนขอให้สวดให้พรกันตรงนั้น
ทั้งพระทั้งโยมรู้ธรรมเนียมตรงกัน
กลับวัด ฉันเสร็จแล้วจึงให้พร
ฉันเช้า ขึ้น ยะถา-สัพพี ต่อด้วยบทอนุโมทนาหมุนเวียน (กาเล, อัคคะโต เว, อายุโท ฯลฯ) จบด้วย ภะวะตุ สัพฯ
ฉันเพล อนุโมทนาด้วยบทสัพพะโรฯ (ไม่ใช้ยะถา-สัพพี)
ปฏิบัติกันอย่างนี้-ผมว่าน่าจะทั่วสังฆมณฑล
สรุปว่า สมัยก่อน ไปอนุโมทนาที่วัดหลังจากฉันเสร็จ ไม่ใช่อนุโมทนาข้างถนนตอนใส่บาตร
—————
ถอยหลังไปดูสมัยพุทธกาล เพื่อให้เห็นแบบแผนธรรมเนียมต้นเดิม
ช่วงต้นพุทธกาล วัด หรืออาวาสอารามยังไม่มีเป็นปึกแผ่น พระสงฆ์อยู่ตามถ้ำ ตามเขา ตามโคนไม้ อยู่ตามธรรมชาติ อยู่ที่ไหนเพียงอาศัยที่นั้นชั่วคราว ไม่ใช่ยึดครอง และอาจย้ายที่อยู่ได้ตลอดเวลา
เกณฑ์สำคัญในการเลือกถิ่นที่อยู่คือมีโคจรคาม คือหมู่บ้านที่เข้าไปบิณฑบาตได้ ไม่ไกลจากที่พัก
พระสมัยนั้น เช้าออกจากที่อยู่ ไปบิณฑบาตตามบ้านคน ได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็เลือกหาสถานที่นั่งฉันตามสะดวก เช่นใกล้แหล่งน้ำ มีน้ำล้างมือล้างบาตรได้สะดวก ก็ฉันที่นั่น ไม่ได้กลับไปฉัน ณ ที่พัก
หมู่บ้านไหนมีพระมาบิณฑบาตบ่อยๆ หลายรูป ชาวบ้านเห็นความลำบากของพระที่จะต้องเที่ยวหาที่ฉัน ก็จะสร้างโรงฉันไว้ในหมู่บ้าน เรียกว่า “อสนศาลา” (อะ-สะ-นะ-) นิมนต์พระไปนั่งฉันที่นั่น พร้อมทั้งคอยปรนนิบัติดูแล
“อสน” แปลว่า กิน (eating) “อสนศาลา” จึงแปลว่า “ศาลาเป็นที่กิน” (eating-hall) ใช้กับพระก็คือศาลาที่นั่งฉัน ตรงกับที่เราเรียกว่า หอฉัน
คำว่า “อสนศาลา” ต่อมาเพี้ยนเป็น “อาสนศาลา” กลายเป็น “ศาลาเป็นที่นั่ง” (seating-hall) ความหมายเลยเพี้ยนไปด้วย แต่ก็ยังคงเป็นที่เข้าใจกันตามความหมายเดิม คือเป็นสถานที่ซึ่งพระไปนั่งฉัน (a hall with seating accommodation)
สมัยพุทธกาลตอนต้นยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า พระไปบิณฑบาตแล้วยืนให้พรกันตรงที่ใส่บาตร
กาลต่อมา เมื่อมีวัดเกิดขึ้นมากแล้ว มีพระอยู่ประจำ มีการสร้าง “อาสนศาลา” ไว้ในวัด มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า “ภัตตัคคะ” แปลว่า “โรงฉัน” (a refectory) และมักมีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย จึงเกิดธรรมเนียมอนุโมทนาหลังภัตตาหาร
สมัยนี้แหละที่ชาวบ้านคุ้นเคยกับธรรมเนียมออกบิณฑบาตของพระ ดังนั้นจึงมีบางบ้านที่-เมื่อมีพระมาบิณฑบาตที่บ้าน ก็จะนิมนต์พระให้ฉันที่บ้านด้วยเลย ไม่ต้องไปบิณฑบาตบ้านอื่นอีก และไม่ต้องกลับไปฉันที่วัด
ในคัมภีร์พบว่ามีชาวบ้านที่มีศรัทธานิยมทำเช่นนี้กันทั่วไป บางบ้านนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นการประจำ
พระที่ได้รับนิมนต์เช่นนั้น พอถึงเวลาบิณฑบาตก็ออกบิณฑบาตตามปกติ เพียงแต่ไม่ต้องเดินไปตามบ้านไหนๆ เหมือนพระทั่วไป ออกจากที่พักก็ตรงไปยังบ้านที่นิมนต์ทีเดียว
สมัยนี้แหละที่ปรากฏชัดเจนว่า หลังจากฉันแล้วพระก็จะอนุโมทนา แบบเดียวกับที่สมัยนี้นิมนต์พระไปฉันตามงาน พระฉันเสร็จก็อนุโมทนานั่นเอง
แต่ว่า “อนุโมทนา” ตามหลักการตั้งเดิมนั้นก็คือการแสดงธรรม บางกรณีก็เป็นการแสดงอานิสงส์ของการถวายทานที่เจ้าของบ้านผู้นิมนต์ได้ถวายไปแล้วนั่นเอง เป็นการให้กำลังใจที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น
เป็นอันชัดเจนว่า ไปบิณฑบาตกลับมาฉันที่วัด ฉันเสร็จ อนุโมทนา
ไปบิณฑบาตและฉันที่บ้านโยม ฉันเสร็จ อนุโมทนา
และอนุโมทนาหมายถึงการแสดงธรรม ไม่ได้มุ่งหมายเพ่งเล็งไปที่-การให้พรอย่างที่เข้าใจกันในเวลานี้
—————
พระที่ไปบิณฑบาต โยมนิมนต์ฉันที่บ้าน ฉันเสร็จ อนุโมทนา ส่วนพระที่ไปบิณฑบาตตามปกติ เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ แล้วไปหาที่ฉันเอาเองตามสะดวก ฉันเสร็จก็ไม่ต้องอนุโมทนา เพราะคนถวายอาหารไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่มีใครมาคอยฟัง
พระที่ไปบิณฑบาตโยมเคยนิมนต์ฉันที่บ้าน ฉันเสร็จอนุโมทนา แต่บางวันโยมไม่ได้นิมนต์ ก็ต้องไปหาที่นั่งฉันเอาเอง ฉันเสร็จไม่มีอนุโมทนา
เข้าใจว่า เพราะอย่างนี้แหละพระจึงใช้วิธีพูดธรรมะสั้นๆ ให้โยมที่ใส่บาตรฟังตรงที่ใส่บาตรนั่นเลย เป็นการอนุโมทนาย่อๆ แทนการอนุโมทนาหลังฉันเสร็จ
แต่ทั้งพระทั้งโยมก็เข้าใจตรงกันว่า นั่นคือเจตนาแสดงธรรม ไม่ใช่เจตนาให้พร
จึงเกิดมีการอนุโมทนา ๒ แบบ แบบหนึ่งอนุโมทนาที่โรงฉันที่วัดหรือที่บ้านโยมหลังจากฉันเสร็จ อีกแบบหนึ่งอนุโมนาย่อๆ ตรงที่ใส่บาตรกรณีที่บิณฑบาตแล้วไปหาที่ฉันตามลำพัง
เนื่องจากอนุโมทนาตรงที่ใส่บาตรเป็นการพูดธรรมะย่อๆ สั้นๆ หรือพูดไม่กี่คำ เนื้อหาจึงมักฟังดูเป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อโยม
ในที่แห่งหนึ่งโยมใส่บาตรแล้วพระอนุโมทนาว่า “สุขํ โหตุ” แปลว่า “ความสุขจงมี” (เช่น ปปัญจสูทนี ภาค ๑ สติปัฏฐานสุตตวัณณนา หน้า ๔๙๘)
สรุปของสรุปก็คือ
ปัจจุบันนี้พระอยู่ประจำวัด พระไปบิณฑบาตแล้วกลับไปฉันที่วัด ฉันเสร็จแล้วจึงอนุโมทนา
จึงไม่ต้องไปยืนอนุโมทนาข้างถนน เพราะไม่ต้องไปหาที่ฉันตามลำพังเหมือนสมัยพุทธกาล
เรื่องในคัมภีร์ พระไปบิณฑบาต อนุโมทนาตรงที่ใส่บาตร ก็มี แต่เป็นบางกรณี ไม่ใช่หลักการว่าต้องทำเช่นนั้น
และอนุโมทนาคือการแสดงธรรม ไม่ใช่ให้พรเป็นสิ่งต่างตอบแทนเหมือนที่กำลังทำกัน
สำหรับโยม ใส่บาตรคือการบำเพ็ญบุญทานมัย ไม่ใช่เอาข้าวแลกพร
สำหรับพระ อนุโมทนาคือการแสดงธรรม ไม่ใช่เอาพรแลกข้าว
ทั้งหมดนี้คือหลักฐานในคัมภีร์เท่าที่พบ
ถ้ามีคนช่วยค้น ช่วยคว้า ช่วยพลิกคัมภีร์ อาจจะพบมากกว่านี้ หรือพบที่แปลกแตกต่างไปจากนี้ ซึ่งจะทำให้เราได้หลักการในการปฏิบัติที่เหมาะที่ควรตามหลักฐาน ไม่ใช่ตามความเข้าใจเอาเองหรือตามความพอใจของใครของมัน อย่างที่กำลังเป็นอยู่ทั่วไปหมด
พูดเรื่องนี้แล้วปวดใจครับ
บ้านเรามีคนเรียนบาลี ๑๐๐ คน
แต่มีคนรักการศึกษาค้นคว้าอยู่ครึ่งคน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๕:๕๐
…………………………….
…………………………….