วรรณยุกต์ (บาลีวันละคำ 979)
วรรณยุกต์
อ่านว่า วัน-นะ-ยุก
ประกอบด้วย วรรณ + ยุกต์
เทียบบาลีเป็น “วณฺณยุตฺต”
(๑) “วณฺณ” (วัน-นะ)
รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”
“วณฺณ” มีความหมายหลายอย่าง (ดูรายละเอียดที่ “สี” บาลีวันละคำ (978) 21-1-58)
“วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ :
(สะกดตามต้นฉบับ อนึ่ง ความหมายของคำไทยบางคำโปรดเทียบเคียงกับคำอังกฤษเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “วรรณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ.
(2) ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ.
(3) ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร.
(4) หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี.
ในที่นี้ความหมายเฉพาะของ “วณฺณ – วรรณ” คือ อักษร, ตัวหนังสือ (the alphabet, a written sign) กล่าวคือเน้นที่ “ตัวหนังสือ” ไม่เล็งไปถึงข้อความหรือเรื่องราวที่เรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างความหมายข้อ (4) ตามพจนานุกรมฯ
(๒) “ยุกต์”
เป็นรูปคำสันสกฤต (มีที่มาและความหมายทำนองเดียวกับคำว่า “ประยุกต์” ที่เราคุ้นเคยกัน) บาลีเป็น “ยุตฺต” (ยุด-ตะ) เป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย มีความหมายว่า เข้าคู่, เชื่อมโยงกัน, ใช้กับ, ประกอบ (coupled; connected with; applied to, given to, engaged in)
วณฺณ + ยุตฺต = วณฺณยุตฺต > วรรณยุกต์, วรรณยุต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วรรณยุกต์, วรรณยุต : (คำนาม) ระดับเสียงสูงต่ำของคำในภาษาไทย มี ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา มีรูปเครื่องหมายบอกระดับของเสียงอยู่เบื้องบนอักษร ๔ รูป คือ ่ (ไม้เอก) ้ (ไม้โท) ๊ (ไม้ตรี) ๋ (ไม้จัตวา).
แนวคิด-ข้อสังเกต :
วรรณยุกต์ของไทยถอดรูปมาจากเลขอารบิกใช่หรือไม่ ?
ไม้เอก = เลข 1
ไม้โท = เลข 2
ไม้ตรี = เลข 3 (แนวนอน-คว่ำ และเติมหาง)
ไม้จัตวา = เลข 4
ภาษาไทยมีเอกลักษณ์พิเศษของตัวเอง คือมีวรรณยุกต์กำกับการผันเสียง รูปคำเดียวกัน แต่ถ้าใช้วรรณยุกต์กำกับต่างกัน ทำให้ออกเสียงต่างกัน และความหมายก็จะต่างกันไปด้วย เช่น –
ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
“วรรณยุกต์” จึงเป็นเอกลักษณ์ เป็นคุณสมบัติพิเศษ เป็นวัฒนธรรมทางภาษา และเป็นตัวตนอย่างหนึ่งของหนังสือไทย
: ถ้าอยู่เหนือโลกีย์ ก็ต้องไม่มีตัวตน
: แต่ถ้าอยู่อย่างปุถุชน ต้องไม่ทิ้งตัวเอง
#บาลีวันละคำ (979)
22-1-58