บาลีวันละคำ

พรหมวิหาร (บาลีวันละคำ 980)

พรหมวิหาร

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า อ่านว่า พฺรม-มะ-วิ-หาน

และอ่านว่า พฺรม-วิ-หาน (ไม่มี -มะ-) ก็ได้

อ่านว่า พฺรม-มะ-วิ-หาน คืออ่านตามหลักภาษา

อ่านว่า พฺรม-วิ-หาน คืออ่านตามความ “รักง่าย”

(๑) “พรหม

บาลีเขียนเป็น “พฺรหฺม” (มีจุดใต้ พฺ และใต้ หฺ)

บาลีเขียนแบบคำอ่าน ตามอักขรวิธีไทยที่นิยมกัน ท่านให้ใส่เครื่องหมายไว้บนอักษร และ ใส่ไม้หันอากาศบน เป็นดังนี้ = พ๎รัห๎มะ

มีปัญหาว่า คำนี้จะอ่านออกเสียงว่าอย่างไร

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ ภาษาไทยออกเสียงว่า พรม (เสียงเดียวกับ ประพรมน้ำมนต์ พรมปูพื้น)

พฺรหฺม” รากศัพท์คือ พฺรห (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ

ในแง่ภาษา คำว่า “พรหม” ในคัมภีร์บาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

(๒) “วิหาร

บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ

ภาษาไทยเขียนเหมือนกัน อ่านว่า วิ-หาน (เว้นแต่มีคำต่อท้ายบางกรณี อ่านว่า วิ-หา-ระ-)

วิหาร” รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ยืดเสียง ที่ – เป็น อา, ลบ

: วิ + หรฺ = วิหร + = วิหร > วิหาร แปลตามศัพท์ว่า “นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น อาการเช่นนั้นจึงเรียกว่า “วิหาร

วิหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ การอยู่, การพักผ่อน, การดำรงชีวิต, สถานะ, วิถีชีวิต, ที่อยู่, ที่อาศัย, การพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง, ที่ประชุม, วัด, สถานที่ประชุมของภิกษุ, สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ, คุณธรรมประจำใจ

พฺรหฺม + วิหาร = พฺรหฺมวิหาร > พรหมวิหาร แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ของพรหม” หรือ “การอยู่อย่างพรหม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) พรหม, พรหม– : (คำนาม) ชื่อพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลกตามศาสนาพราหมณ์, เทพในพรหมโลก จําพวกมีรูป เรียก รูปพรหม มี ๑๖ ชั้น จําพวกไม่มีรูป เรียก อรูปพรหม มี ๔ ชั้น ตามคติพระพุทธศาสนา, ในบทกลอนใช้ว่า พรหมัน พรหมา พรหมาน หรือ พรหมาร ก็มี; ผู้มีพรหมวิหารทั้ง ๔ (เช่น บิดามารดามีพรหมวิหารทั้ง ๔ ต่อบุตร ได้ชื่อว่า เป็นพรหมของบุตร). (ป., ส. พฺรหฺม).

(2) วิหาร, วิหาร– : (คำนาม) วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับ โบสถ์; การพักผ่อน เช่น ทิวาวิหาร ว่า การพักผ่อนในเวลากลางวัน. (ป., ส.).

(3) พรหมวิหาร : (คำนาม) ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).

มักเข้าใจกันว่า “พรหมวิหาร” เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ หรือของผู้เป็นใหญ่

อันที่จริง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นคุณธรรมของผู้ที่ครองชีวิตอย่างประเสริฐ ไม่จำกัดว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

พรหมวิหาร : ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”

อยู่อย่างยิ่งใหญ่ –

: ใหญ่ด้วยยศศักดิ์ อยู่แล้วหนักหัวใจ

: ใหญ่ด้วยคุณธรรม อยู่แล้วฉ่ำชื่นใจ

: ใหญ่ด้วยคุณธรรมนำยศศักดิ์ อยู่แล้วมีคนรักสุดหัวใจ

#บาลีวันละคำ (980)

23-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *