บาลีวันละคำ

สังวร (บาลีวันละคำ 2,947)

สังวร

เครื่องช่วยที่มักไม่เอาออกมาใช้

อ่านว่า สัง-วอน

สังวร” เขียนแบบบาลีเป็น “สํวร” อ่านว่า สัง-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + วรฺ (ธาตุ = ระวัง) + (อะ) ปัจจัย

: สํ + วรฺ = สํวรฺ + = สํวร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความระวังพร้อม” หมายถึง ความระวัง, การรั้งไว้ (restraint)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “สํวร” ไว้ว่า The fivefold saŋvara: sīla-, sati-, ñāṇa-, khanti-, viriya-, i. e. by virtue, mindfulness, insight, patience, effort (สังวร 5 อย่าง: สีล-, สติ-, ญาณ-, ขนฺติ-, วิริย-, คือ ศีลสังวร, สติสังวร, ญาณสังวร, ขันติสังวร, วิริยสังวร)

บาลี “สํวร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังวร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังวร : (คำนาม) ความระวัง, ความเหนี่ยวรั้ง, ความป้องกัน. (คำกริยา) สํารวม, เหนี่ยวรั้ง, เช่น สังวรศีล สังวรธรรม, ถ้าใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า ความสำรวม, ความระวัง, เช่น อินทรียสังวร จักษุสังวร ญาณสังวร ศีลสังวร, (ภาษาปาก) ให้ระวังจงดี (ผู้ใหญ่สั่งสอนเตือนสติผู้น้อย) เช่น เรื่องนี้พึงสังวรไว้ อย่าให้ผิดอีกเป็นครั้งที่ ๒. (ป., ส. สํวร).”

ขยายความ :

ในคัมภีร์ท่านจำแนก “สังวร” ไว้ 5 อย่าง ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [243] สังวร 5 ซึ่งสรุปความไว้มาแสดงดังนี้ –

…………..

สังวร 5 อย่าง คือ

1. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ รักษาสิกขาบทเคร่งครัดตามที่ทรงบัญญัติไว้ในพระปาฏิโมกข์ (Pāṭimokkha-saṃvara: restraint by the monastic code of discipline)

2. สติสังวร สำรวมด้วยสติ คือ สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้บาปอกุศลธรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูป เป็นต้น (Sati-saṃvara: restraint by mindfulness) = อินทรียสังวร

3. ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ คือ ตัดกระแสกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเสียได้ ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา มิให้เข้ามาครอบงำจิต ตลอดถึงรู้จักพิจารณาเสพปัจจัยสี่ (Ñāṇa-saṃvara: restraint by knowledge) = ปัจจัยปัจจเวกขณ์

4. ขันติสังวร สำรวมด้วยขันติ คือ อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำแรงร้าย และทุกขเวทนาต่างๆ ได้ ไม่แสดงความวิการ (Khanti-saṃvara: restraint by patience)

5. วิริยสังวร สำรวมด้วยความเพียร คือ พยายามขับไล่ บรรเทา กำจัดอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไปเป็นต้น ตลอดจนละมิจฉาชีพ เพียรแสวงหาปัจจัยสี่เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ ที่เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิ (Viriya-saṃvara: restraint by energy) = อาชีวปาริสุทธิ.

…………..

สังวร” เป็นคุณธรรมช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อทำผิดพลาด

: คนกล้าหาญเท่านั้นที่จะสามารถขอขมา

#บาลีวันละคำ (2,947)

7-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย