บาลีวันละคำ

ไตรปิฎก (บาลีวันละคำ 1,750)

ไตรปิฎก

ศักดิ์สิทธิ์จนไม่คิดจะศึกษา

อ่านว่า ไตฺร-ปิ-ดก

แยกศัพท์เป็น ไตร + ปิฎก

(๑) “ไตร

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน

คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี

: เต > ไตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

(๒) “ปิฎก

บาลีเป็น “ปิฏก” (ไทย ชฎา บาลี ปฏัก) รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = รวบรวม; เบียดเบียน; ส่งเสียง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ปิฏฺ + ณฺวุ > อก = ปิฏก แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ภาชนะที่รวมข้าวสารเป็นต้นไว้

(2) “ภาชนะอันเขาเบียดเบียน

(3) “หมู่ธรรมเป็นที่อันเขารวบรวมเนื้อความนั้นๆ ไว้

(4) “หมู่ธรรมอันเขาส่งเสียง” (คือถูกนำออกมาท่องบ่น)

ปิฏก” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) ตะกร้า, กระจาด, กระบุง (a basket)

(2) (นปุงสกลิงค์) ตำรา, หมวดคำสอนในพระพุทธศาสนา (a scripture, any of the three main divisions of the Pāli Canon)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปิฎก : (คำนาม) ตะกร้า; หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา. (ป., ส. ปิฏก).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ปิฎก (Piṭaka) : a basket; any of the three main divisions of the Pāli Canon. ดู ไตรปิฎก.

…………

ติ + ปิฏก = ติปิฏก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตรีปิฎก

หรือ เต + ปิฏก = เตปิฏก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ไตรปิฎก

คำว่า “ตรีปิฎก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรีปิฎก : (คำนาม) ไตรปิฎก, พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก. (ส. ตฺริปิฏก; ป. ติปิฏก ว่า ตะกร้า ๓).”

คำว่า “ไตรปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ไตรปิฎก (Tepiṭaka) : the Three Baskets; the Tipiṭaka; the three divisions of the Buddhist Canon, viz., Vinaya, Sutta and Abhidhamma, generally known as the Pali Canon.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ตรีปิฎก ก็ว่า.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

ไตรปิฎก : (คำนาม) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มี ๓ ปิฎก คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก พระอภิธรรม เรียก อภิธรรมปิฎก, ใช้ว่า ตรีปิฎก ก็ได้.”

…………..

อภิปราย :

โปรดสังเกตการปรับแก้ถ้อยคำของพจนานุกรมฯ :

ฉบับ พ.ศ.2542 บอกว่า “ตรีปิฎก ก็ว่า”

ฉบับ พ.ศ.2554 แก้เป็น “ใช้ว่า ตรีปิฎก ก็ได้”

โปรดสังเกตคำเหล่านี้คือ ติปิฏก เตปิฏก ตรีปิฎก ไตรปิฎก เป็นคำที่หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือที่เรานิยมเรียกกันว่า “พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก” เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหรือประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนา

คำสอนในพระพุทธศาสนาในชั้นเดิมเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระธรรมวินัย พระสาวกได้ฟังแล้วก็จำกันไว้ ยังไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีระบบการตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกัน โดยวิธีนำมากล่าวขึ้นพร้อมกัน คือสวดสาธยายพร้อมๆ กัน ที่เรียกว่า “สังคายนา” หรือ “สังคีติ” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “การขับขานขึ้นพร้อมกัน” (โปรดเปรียบเทียบกับเพลงที่ขับร้องหมู่ ผู้ร้องทุกคนจะต้องจำคำร้องได้ถูกต้องตรงกันทุกคำ ถ้าร้องไม่ตรงกันเพลงนั้นก็จะผิดทันที)

ราวพุทธศตวรรษที่ 5 จึงมีการจารึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษร จัดเป็นหมวดหมู่ ที่เรารู้จักกันในนาม “พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

สังคมไทยรู้จักและให้ความสำคัญต่อพระไตรปิฎกมาเป็นเวลานานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อสร้างวัดที่สมบูรณ์แบบจะต้องมี “หอ” ที่เป็นหลัก 4 หอ คือ หอฉัน หอสวดมนต์ หอระฆัง (รวมหอกลองเข้าไว้ด้วย) และ หอไตร

“หอไตร” เป็นคำที่ตัดมาจาก “หอพระไตรปิฎก” คือห้องหรืออาคารที่สร้างไว้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกเพื่อให้พระภิกษุสามเณรใช้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่คิดจะรักษาใจไม่ให้สกปรก

: ท่านจะรักษาพระไตรปิฎกไว้เพื่ออะไร

——————

ภาพประกอบจาก google

20-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย