บาลีวันละคำ

อธิก (บาลีวันละคำ 992)

อธิก

อธิกมาส

อธิกวาร

อธิกสุรทิน

(๑) “อธิก

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กะ มาจาก อธิ + = อธิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปยิ่ง” หมายถึง ยิ่ง, พิเศษ, ทับ, เหนือกว่า (exceeding, extra-ordinary, superior)

อธิก” ถ้าใช้นำหน้าคำที่นับเป็นจำนวนได้ มีความหมายว่า เพิ่มขึ้นอีก, รวมด้วย, บวก (in addition, with an additional, plus)

ในที่นี้ คำที่ อธิกไปนำหน้า 3 คำ คือ :

(๒) อธิก + มาส = อธิกมาส (อะ-ทิ-กะ-มาด)

มาส” บาลีอ่านว่า มา-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มสิ (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ปัจจัย, ยืดเสียง ที่ – เป็น อา, ลบ อิ ที่ –สิ

: มสิ > มาสิ > มาส + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่เหมือนกำหนดอายุของเหล่าสัตว์ทำให้สิ้นสุด” หมายถึง เดือน (ส่วนของปี)

(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย

: มา + = มาส แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกำหนดข้างแรมและข้างขึ้นของวัน” หมายถึง ดวงจันทร์

มาส” จึงมีความหมาย 2 อย่าง คือ เดือน (month) และ ดวงจันทร์ (moon)

คำว่า “เดือน” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ส่วนของปี และ ดวงจันทร์

ในคำว่า “อธิกมาส” “มาส” หมายถึงเดือนที่เป็นส่วนของปี (month) และหมายถึงเดือนตามระบบจันทรคติ หรือเดือนไทย คือเดือนอ้าย เดือนยี่ ไปจนถึงเดือน 12 (ไม่ใช่เดือนมกรา กุมภา ฯลฯ)

อธิกมาส” แปลว่า “เดือนที่เพิ่มขึ้น” ปีที่มี “อธิกมาส” หมายถึงปีที่มีเดือนไทยเพิ่มขึ้นอีกเดือนหนึ่ง ทางโหราศาสตร์กำหนดให้เพิ่มเดือน 8 เป็น 2 เดือน เรียกว่า “8 สอง 8” คือเดือน 8 ต้น และ เดือน 8 หลัง ปีที่มี “อธิกมาส” จึงมีเดือนไทย 13 เดือน

(๓) อธิก + วาร = อธิกวาร (อะ-ทิ-กะ-วาน)

วาร” บาลีอ่านว่า วา-ระ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ผูกไว้” หมายถึงเวลาที่กำหนดไว้ตามเหตุการณ์นั้นๆ หมายถึง วาระ, โอกาส, เวลา, คราว (turn, occasion, time, opportunity)

ในภาษาไทย “วาร” มีความหมายว่า

– วันหนึ่งๆ ในสัปดาห์ เช่น อาทิตยวาร = วันอาทิตย์

– ครั้ง, คราว เช่น พิจารณารวดเดียว 3 วาระ, อยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี

ในคำว่า “อธิกวาร” “วาร” หมายถึงวันขึ้นแรมตามจันทรคติ มีคำเรียกว่า “ขึ้น-ค่ำ” “แรม-ค่ำ” เริ่มแต่ขึ้น 1 ค่ำ (เฉพาะ 1 ค่ำ ทั้งขึ้นและแรม คำเก่าเรียก “ค่ำ 1” หรือ “ค่ำหนึ่ง”) ถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วต่อด้วยแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เป็นหมดเดือน แต่ถ้าเป็นเดือนคี่ คือเดือน 1 (คำไทยเรียกว่า “เดือนอ้าย”) เดือน 3 เดือน 5 เป็นต้น ข้างแรมจะหมดเพียง แรม 14 ค่ำ แล้วเป็นขึ้น 1 ค่ำของเดือนต่อไป

อธิกวาร” แปลว่า “วาร (วันขึ้นแรม) ที่เพิ่มขึ้น” ปีที่มี “อธิกวาร” หมายถึง ปีที่มีวันขึ้นแรมเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ทางโหราศาสตร์กำหนดให้เพิ่ม “แรม 15 ค่ำ เดือน 7” อีกวันหนึ่ง (เดือน 7 เป็นเดือนคี่ ปกติจะหมดเพียงแรม 14 ค่ำ ไม่มีแรม 15 ค่ำ)

(๔) อธิก + สุรทิน = อธิกสุรทิน (อะ-ทิ-กะ-สุ-ระ-ทิน)

สุรทิน” ประกอบด้วย สุร + ทิน

สุร” แปลว่า ดวงอาทิตย์

ทิน” (บาลีอ่านว่า ทิ-นะ) แปลว่า วัน หรือกลางวัน

สุรทิน” แปลว่า “วันตามระบบสุริยคติ” หมายถึง “วันที่” ในเดือนสุริยคติ (คือเดือนมกรา กุมภา ฯลฯ)

อธิกสุรทิน” แปลว่า “วันที่ (ในเดือนทางสุริยคติ) ที่เพิ่มขึ้น” ปีที่มี “อธิกสุรทิน” หมายถึง ปีที่มี “วันที่” เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ทางโหราศาสตร์กำหนดให้เพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ คือเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ อีกวันหนึ่ง (ปกติเดือนกุมภาพันธ์หมดเพียงวันที่ 28)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อธิก– : (คำวิเศษณ์) ยิ่ง, เกิน, มาก, เพิ่ม, เลิศ, ใช้ว่า อธึก ก็มี. (ป., ส.).

(2) อธิกมาส : (คำนาม) เดือนที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือ ในปีนั้นมี ๑๓ เดือน มีเดือน ๘ สองหน เรียกว่า เดือน ๘ สอง ๘.

(3) อธิกวาร : (คำนาม) วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือ ในปีนั้นเดือน ๗ เป็นเดือนเต็ม มี ๓๐ วัน. (ป.).

(4) อธิกสุรทิน : (คำนาม) วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือ ในปีนั้นเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์อีก ๑ วัน เป็น ๒๙ วัน.

สรุป :

(๑) อธิกมาส : “เดือนเกิน” = ปีที่มีเดือน 8 สอง 8

(๒) อธิกวาร : “วันเกิน” = ปีที่เดือน 7 มีแรม 15 ค่ำ

(๓) อธิกสุรทิน : “วันที่เกิน” = ปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

: ไม่มีอะไรเกินดี

: ถ้ารู้จักทำสิ่งที่เกินนั้นให้ดี

————-

หมายเหตุ :

(๑) เนื่องจากเมื่อวาน-วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์-ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตามปกติจะเป็นวันมาฆบูชา แต่ไม่มีใครเอ่ยถึง “มาฆบูชา” กันเลย ทำให้ผู้เขียน บาลีวันละคำ เกิดความสงสัยว่า คนสมัยนี้ทราบหรือไม่ว่า ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา ถ้าทราบ ทำไมจึงไม่มีใครเอ่ยถึง หรือว่าเป็นเพราะปฏิทินเมื่อวานนี้ไม่ได้ลงไว้ว่าเป็นวันมาฆบูชา ดังนั้นจึงไม่มีใครนึกถึง หมายความว่ารู้ตามที่ปฏิทินบอก ว่าปีนี้วันมาฆบูชาเป็น “วันที่” เท่าไรเดือน (มกรา-กุมภา) อะไรเท่านั้น แต่ขึ้นแรมกี่ค่ำเดือนอะไรไม่ทราบ

(๒) ปี 2558 นี้เป็นปีที่มี “อธิกมาส” ในปีที่มี “อธิกมาส” มีหลักว่า วันมาฆบูชา ให้เลื่อนไปเป็นขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4, วันวิสาขบูชา ให้เลื่อนไปเป็นขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7, วันเข้าปุริมพรรษา ให้เลื่อนไปเป็นแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง

#บาลีวันละคำ (992)

4-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *