บาลีวันละคำ

อุปกิเลส (บาลีวันละคำ 4,100)

อุปกิเลส

ศัตรูใกล้ตัว

อ่านว่า อุ-ปะ-กิ-เหฺลด

แยกศัพท์เป็น อุป + กิเลส

(๑) “อุป” 

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ- เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น” 

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out) 

(3) สุดแต่ (up to) 

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(๒) “กิเลส” 

บาลีอ่านว่า กิ-เล-สะ รากศัพท์มาจาก กิลิสฺ (ธาตุ = เดือดร้อน, เศร้าหมอง, เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ –ลิ-เป็น เอ (กิลิสฺ > กิเลส

: กิลิสฺ + = กิลิส > กิเลส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน” (2) “ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง” (3) “ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน” 

สูตรหาความหมายของศัพท์ ท่านว่า : 

กิลิสฺสนฺติ  เอเตน  สตฺตาติ  กิเลโส 

สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน, ย่อมเศร้าหมอง, ย่อมเบียดเบียนกัน เพราะภาวะนั้น ดังนั้น ภาวะนั้นจึงชื่อว่า “กิเลส” = ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน, ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง, ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน

กิเลส” หมายถึง เครื่องเศร้าหมอง, ความเศร้าหมอง, มลทินใจ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิเลส” ว่า stain, soil, impurity, affliction, depravity, lust (เปรอะเปื้อน, เศร้าหมอง, ไม่บริสุทธิ์, ความทุกข์, ความเสื่อมเสีย, ราคะ)

ฝรั่งผู้ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า ความหมายของ “กิเลส” ในภาษาบาลีเทียบได้กับที่ภาษาอังกฤษพูดว่า lower or unregenerate nature, sinful desires, vices, passions (ธรรมชาติฝ่ายต่ำ, ความปรารถนาอันเป็นบาป, ความชั่ว, ความทุกข์ทรมาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กิเลส, กิเลส– : (คำนาม) เครื่องทําใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง เช่น ยังตัดกิเลสไม่ได้ กิเลสหนา; กิริยามารยาท ในคําว่า กิเลสหยาบ.”

อุป + กิเลส ซ้อน กฺ 

อุป + กฺ + กิเลส = อุปกฺกิเลส (อุ-ปัก-กิ-เล-สะ) แปลว่า “ภาวะที่เข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง

อุปกฺกิเลส” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อุปกิเลส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุปกิเลส : (คำนาม) เครื่องทําใจให้เศร้าหมอง มี ๑๖ อย่าง มี อภิชฌาวิสมโลภ เป็นต้น. (ป. อุปกฺกิเลส).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [347] แสดงรายละเอียดของ “อุปกิเลส” ไว้ดังนี้ –

…………..

อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส 16 (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — Upakkilesa: mental defilements)

1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอา ไม่เลือกควรไม่ควร — Abhijjhā-visamalobha: greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)

2. พยาบาท (คิดร้ายเขา — Byāpāda: malevolence; illwill)

3. โกธะ (ความโกรธ — Kodha: anger)

4. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — Upanāha: grudge; spite)

5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — Makkha: detraction; depreciation; denigration)

6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — Palāsa: domineering; rivalry; envious rivalry)

7. อิสสา (ความริษยา — Issā: envy; jealousy)

8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — Macchariya: stinginess; meanness)

9. มายา (มารยา — Māyā: deceit)

10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — Sāṭheyya: hypocrisy)

11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — Thambha: obstinacy; rigidity)

12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — Sārambha: presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)

13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — Māna: conceit)

14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — Atimāna: excessive conceit; contempt)

15. มทะ (ความมัวเมา — Mada: vanity)

16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — Pamāda: heedlessness; negligence; indolence)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักศัตรูเพื่อจะได้ระวังตัว ปลอดภัยดี

: รู้จักตัวเพื่อจะได้ระวังศัตรู ปลอดภัยกว่า

#บาลีวันละคำ (4,100)

3-9-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *