ปรมาภิไธย (บาลีวันละคำ 991)
ปรมาภิไธย
อ่านตามหลักภาษาว่า ปะ-ระ-มา-พิ-ไท
ประกอบด้วย ปรม + อภิไธย
(๑) “ปรม”
บาลีอ่านว่า ปะ-ระ-มะ เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ภาษาไทยนิยมใช้ว่า “บรม” (บอ-รม) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น ขี้เกียจบรม บรมขี้เกียจ”
“ปรม” คงเป็น ปรม– เมื่อสมาสกับคำอื่นก็มี เช่น ปรมินทร์ ปรเมนทร์ (ปรม + อินทร์) และในคำว่า ปรมาภิไธย นี้เอง
(๒) “อภิไธย”
บาลีเป็น “อภิเธยฺย” (อะ-พิ-เท็ย-ยะ) ประกอบด้วย อภิ + เธยฺย
“อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เฉพาะ, ข้างหน้า, ยิ่ง
“เธยฺย” รากศัพท์มาจาก –
(1) ฐา (ธาตุ = ดำรงไว้, ทรงไว้, ตั้งไว้) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ฐา เป็น ธา, ลบ อา, แปลง ณฺย เป็น เอยฺย
: ฐา > ธา > ธ + ณฺย > เอยฺย : ธ + เอยฺย = เธยฺย แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่ตั้งแห่งเนื้อความ”
(2) ธา (ธาตุ = ดำรงไว้, ทรงไว้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ อา, แปลง ณฺย เป็น เอยฺย
: ธา > ธ + ณฺย > เอยฺย = เธยฺย แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาทรงจำไว้”
“เธยฺย” ในที่นี้หมายถึง นาม, ชื่อ
อภิ + เธยฺย = อภิเธยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ชื่อที่สำคัญ”
“อภิเธยฺย” ใช้ในภาษาไทยว่า “อภิไธย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภิไธย : (คำนาม) ชื่อ. (ป. อภิเธยฺย; ส. อภิเธย).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อภิเธย : (คำนาม) คำสำคัญ; a significant word.”
ปรม + อภิเธยฺย = ปรมาภิเธยฺย > ปรมาภิไธย แปลตามศัพท์ว่า “ชื่อที่สำคัญอย่างยอดเยี่ยม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรมาภิไธย : (คำนาม) ชื่อ (ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เช่น ในพระปรมาภิไธย ทรงลงพระปรมาภิไธย. (ป. ปรมาภิเธยฺย).”
ความคิดเห็น:
(๑) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า คำว่า “ปรมาภิไธย” นี้ อ่านว่า ปอ-ระ-มา-พิ-ไท ก็ได้
(๒) คำขึ้นต้นด้วย ปร-, ปรม– และ ปริ– พจน.54 บอกคำอ่านไว้ดังนี้ :
(1) ปร– [ปะระ-, ปอระ-] (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).
(2) ปรม– [ปะระมะ-, ปอระมะ-] (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง (ใช้นําหน้าคําอื่นโดยมาก). (ป.).
(3) ปริ– [ปะริ-] เป็นอุปสรรคในภาษาบาลีและสันสกฤต, ใช้นําหน้าศัพท์อื่นแปลว่า รอบ เช่น ปริมณฑล.
(๓) โปรดสังเกตว่า คำที่ขึ้นต้นด้วย ปร-อ่านได้ 2 แบบ คือ ปะ-ระ- ก็ได้ ปอ-ระ- ก็ได้ แต่คำที่ขึ้นต้นด้วย ปริ– บอกคำอ่านไว้แบบเดียว คือ ปะ-ริ- จะอ่านว่า ปอ-ริ- ไม่ได้
ยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงกำหนดไว้อย่างนี้
แต่ในภาษาบาลี ปร-, ปรม– และ ปริ– ต้องอ่านว่า ปะ- ทั้งนั้น อ่านว่า ปอ- ไม่ได้
: แปลงชื่อปลอมหนังสือ อาจหลอกคนซื่อให้เชื่อได้
: แต่ชั่วดีที่ทำไว้ หลอกใครไม่ได้ เป็นของใครก็ของมัน
—————-
(เนื่องมาจากมีผู้ฟั่นเฟือนเขียนคำนี้เป็น “ปริมาภิไธย” เผยแพร่ออกมา จึงถือเป็นโอกาสเผยแพร่ความรู้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความฟั่นเฟือนทำนองนี้ขึ้นมาอีก)
#บาลีวันละคำ (991)
3-2-58