โรงฉ้อทาน (บาลีวันละคำ 1,981)
โรงฉ้อทาน
ไม่ใช่โรงโกงทาน
อ่านตรงๆ ว่า โรง-ฉ้อ-ทาน
ประกอบด้วยคำว่า โรง + ฉ้อ + ทาน
(๑) “โรง”
เป็นคำไทย ตรงกับคำสามัญในบาลีคือ “สาลา” เช่นในคำว่า
– อาโรคฺยสาลา (อา-โรก-เคียะ-สา-ลา) = โรงพยาบาล
– ปาฐสาลา (ปา-ถะ-สา-ลา) = โรงเรียน
– ภตฺตสาลา (พัด-ตะ-สา-ลา) = โรงอาหาร
“สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”
“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”
(๒) “ฉ้อ”
คำนี้มาจากภาษาบาลีว่า “ฉ” ออกเสียงว่า ฉะ แปลว่า หก (จำนวน 6) แต่ในภาษาไทยมีหลายคำที่ออกเสียงว่า ฉอ หรือ ฉ้อ เช่น
– ฉศก (เรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 6) อ่านว่า ฉอ-สก ไม่ใช่ ฉะ-สก
– ฉกษัตริย์ (ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๒ ของมหาเวสสันดรชาดก) อ่านว่า ฉ้อ-กะ-สัด หรือ ฉอ-กะ-สัด ไม่อ่านว่า ฉะ-กะ-สัด
– ฉกามาพจร (สวรรค์ 6 ชั้น) พจน.54 บอกคำอ่านว่า ฉะ-กา-มา-พะ-จอน แต่คนรุ่นเก่าอ่านคำนี้ว่า ฉ้อ-กา-มา– และยังติดมาในคำแปลว่า สวรรค์ฉ้อชั้น.. คือสวรรค์หกชั้น
(๓) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
การประสมคำ :
ถ้าประสมตามคำว่า “โรง + ฉ้อ + ทาน” ก็จะได้รูปคำเป็น สาลา + ฉ + ทาน = สาลาฉทาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “ศาลาฉทาน” บอกคำอ่านว่า สา-ลา-ฉ้อ-ทาน บอกไว้ดัง –
“ศาลาฉทาน : (คำนาม) สถานที่แจกจ่ายอาหารแก่คนทั่วไปเป็นการกุศล, ฉทานศาลา ก็เรียก.”
ต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ศาลาฉทาน : (คำนาม) ศาลาเป็นที่ทำทาน ๖ แห่ง, ฉทานศาลา ก็เรียก.”
พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ฉทานศาลา” ไว้ด้วย ในที่นี้ขอยกคำอ่านมาให้ดูด้วยดังนี้ –
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ฉทานศาลา [ฉ้อทานนะสาลา] : (คำนาม) ศาลาเป็นที่ทําทาน ๖ แห่ง, บางทีเขียนว่า ศาลาฉทาน.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฉทานศาลา [ฉ้อทานนะสาลา, ฉ้อทานสาลา] : (คำนาม) ศาลาเป็นที่ทำทาน ๖ แห่ง, บางทีเขียนว่า ศาลาฉทาน.”
บาลีว่าอย่างไร :
ในคัมภีร์มีศัพท์ว่า “ทานสาลา” (ทา-นะ-สา-ลา) แปลว่า “โรงทาน” (a hall for donations) และมีคำว่า “ฉ ทานสาลาโย” (“สาลา” แจกวิภัตติเป็นพหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สาลาโย”) แปลว่า “โรงทาน 6 แห่ง”
โปรดสังเกตว่า “ฉ” กับ “ทานสาลาโย” แยกกันเป็นคนละศัพท์ ยังไม่พบคำที่เป็นศัพท์เดียวกันว่า “ฉทานสาลา” เหมือน “ฉทานศาลา” ในภาษาไทย
อภิปราย ๑ :
โปรดสังเกตว่า ภาษาไทยจับเอาคำว่า “ฉทาน” หรือ “ฉ้อทาน” เป็นคำหลัก แต่ในภาษาบาลีน้ำหนักของคำอยู่ที่ “ฉ-สาลา”
ในทางไวยากรณ์ ทั้ง “ฉ” และ “ทาน” ต่างก็เป็นคำขยาย “สาลา”
ฉ-สาลา = ศาลา 6 แห่ง
ทานสาลา = ศาลาเป็นที่ทำทาน
“ฉ” ไม่ใช้คำขยาย “ทาน” คือไม่ใช่ “ฉทาน” = ทาน 6 อย่าง
แต่เมื่อเอาศัพท์มาเรียงกันเป็นภาษาบาลี ได้รูปเป็น “ฉทานสาลา” แปลว่า ศาลาเพื่อการให้ทาน 6 แห่ง หรือ โรงทาน 6 แห่ง
คำว่า “ฉ” อยู่ติดกับ “ทาน” ไทยเราก็เลยตัดคำมาเป็น “ฉทาน” หรือ “ฉ้อทาน” แทนที่จะเป็น “ฉ-ศาลา”
“ฉทาน” หรือ “ฉ้อทาน” ถ้าแปลตามศัพท์ต้องแปลว่า “ทาน 6 อย่าง” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ประสงค์ เพราะไม่ได้กำหนดชนิดของทานว่ามี 6 อย่าง
“ฉสาลา” แปลว่า “ศาลา 6 แห่ง” เป็นความหมายที่ประสงค์ เพราะกำหนดสถานที่ตั้งโรงทานไว้ 6 แห่ง
ถ้าถามต่อไปว่า ศาลา 6 แห่งคือศาลาอะไร ก็ตอบว่า “ทานสาลา” ซึ่งแปลว่า “ศาลาเพื่อทาน” หรือ “ศาลาเป็นที่ทำทาน” ที่ภาษาไทยใช้คำว่า “โรงทาน”
อภิปราย ๒ :
ทำไมคำว่า “ศาลาฉทาน” และ “ฉทานศาลา” จึงไม่อ่านว่า ฉะ- แต่ให้อ่านว่า ฉ้อ- หรือ ฉอ-
น่าจะเป็นเพราะ –
๑ คำว่า “ฉะ” ในภาษาไทยมีความหมายกระเดียดไปในทางไม่สุภาพ เพื่อเลี่ยงเสียง “ฉะ” ซึ่งมีนัยประหวัดไปถึง “ฉะ” ในภาษาไทย จึงเปลี่ยนเป็น “ฉ้อ” หรือ “ฉอ” แทน
๒ อีกเหตุหนึ่ง อาจเป็นเพราะไทยเราออกเสียงพยัญชนะแต่ละตัวเป็นเสียง “ออ” เช่น ก = กอ, ข = ขอ (บาลีออกเสียงเป็น “อะ” เช่น ก = กะ, ข = ขะ) พยัญชนะ ก ข 2 ตัวนี้เมื่อพูดรวมกัน โบราณออกเสียงว่า กอ-ข้อ “ก ข ก กา” อ่านว่า กอ-ข้อ-กอ-กา
ดังนั้น ฉ– ที่อยู่หน้าคำ เราจึงออกเสียงเป็น ฉอ- หรือ ฉ้อ- อนุวัตรตามหลักที่ว่านี้ไปด้วย
…………..
ในวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป คนที่มีฐานะมั่งคั่ง เช่นท้าวพญามหาเศรษฐี ย่อมสำแดงสถานะให้เป็นที่ปรากฏแก่สังคมด้วยการบริจาคทาน โดยการตั้ง “ทานศาลา” หรือโรงทาน
สถานที่ซึ่งนิยมตั้งโรงทานคือ ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ 4 แห่ง กลางเมือง 1 แห่ง และที่หน้าวังหรือหน้าบ้านของตนเอง 1 แห่ง
ท้าวพญามหาเศรษฐีที่ตั้งโรงทานครบทั้ง 6 แห่งเช่นนี้ถือว่าเป็นโรงทานที่สมบูรณ์แบบเต็มรูป สมศักดิ์ศรี สมฐานะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ฉ ทานสาลาโย” หรือ “ฉทานศาลา” หรือคำไทยว่า “โรงฉ้อทาน” ซึ่งตามศัพท์แปลว่า “โรงทาน 6 แห่ง”
“ฉทานศาลา” มิใช่สถานที่ทำกิจกรรมเป็นครั้งคราวหรือตามเทศกาล หากแต่ตั้งขึ้นและดำเนินงานทุกวันเป็นการถาวร ถือกันว่าเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งแห่งวงศ์ตระกูล ถึงขั้นที่อาจกล่าวได้ว่า ท้าวพญามหาเศรษฐีที่ยังไม่ได้ตั้ง “ฉทานศาลา” สำหรับตระกูลของตน จะเรียกว่าเป็นท้าวพญามหาเศรษฐีที่สมบูรณ์แล้วมิได้เลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การให้เป็นเครื่องหมายของเศรษฐี
: การตระหนี่เป็นเครื่องหมายของยาจก
——————-
(ภาพประกอบภาพแรก: จากโพสต์ของ Tongthong Chandransu)
#บาลีวันละคำ (1,981)
14-11-60