วิทยฐานะ (บาลีวันละคำ 1,767)
วิทยฐานะ
มีไว้เพื่ออะไรกัน
อ่านว่า วิด-ทะ-ยะ-ถา-นะ
แยกศัพท์เป็น วิทย + ฐานะ
(๑) “วิทย”
ศัพท์เดิมเป็น “วิทยา”บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ไว้ 2 นัย คือ –
(1) ความหมายทั่วไป : science, craft, art, charm, spell (ศาสตร์, งานอาชีพ, ศิลปะ, มนต์, คำสาป)
(2) ความหมายเฉพาะ (เช่นที่ใช้ในศาสนา) : science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ที่สูงกว่า)
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิชฺชา” เป็นอังกฤษว่า –
Vijjā : knowledge; transcendental wisdom; the Threefold Knowledge.
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
“วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”
“วิทยา” ในภาษาไทย เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาสอาจลดรูปเป็น “วิทย” เช่น “วิทยบริการ” และ “วิทยฐานะ” เป็นต้น
(๒) “ฐานะ”
บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “ฐาน” ไว้ดังนี้ –
(1) standing position (อิริยาบถยืน)
(2) place, region, locality, abode, part (สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน)
(3) location (ที่ตั้ง)
(4) attribute, quality, degree (คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง)
(5) thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason (สิ่ง; ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผลสำหรับ [การถือเช่นนั้น])
(6) condition (สภาวะ)
(7) supposition, principle (ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ)
(8) at once, immediately (ทันทีทันใด)
วิทยา + ฐานะ = วิทยาฐานะ
ใช้สูตรเหมือนบาลี “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ วิทยา : วิทยา > วิทย
ดังนั้น : วิทยาฐานะ > วิทยฐานะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยฐานะ : (คำนาม) ฐานะในด้านความรู้ เช่น สอบเทียบวิทยฐานะ มีวิทยฐานะในระดับปริญญาตรี.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันว่าวิทยฐานะนั้นไซร้
: ถ้าใช้เพื่อหากิน ก็มีประโยชน์แค่ชาตินี้
: ถ้าใช้เพื่อทำความดี ก็มีประโยชน์ถึงชาติหน้า
8-4-60