นิพพานเป็นอะไร
นิพพานเป็นอะไร
—————–
มีผู้ยกปัญหาขึ้นถกกันว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือนิพพานเป็นอนัตตา
บางพวกเห็นว่านิพพานเป็นอัตตา อ้างเหตุผลนั่นนี่โน่น ส่วนใหญ่เป็นความเห็นของตนเองหรือของท่านผู้นั้นผู้โน้น
บางพวกเห็นว่านิพพานเป็นอนัตตา ก็อ้างเหตุผลนั่นนี่โน่นเหมือนกัน และส่วนใหญ่ก็เป็นความเห็นของตนเองหรือของท่านผู้นั้นผู้โน้นเช่นกัน
แล้วก็มีผู้สรุปว่า เรื่องนี้ยังไม่เคลียร์ ยังตกลงกันไม่ได้ ยังไม่รู้ว่านิพพานเป็นอะไรกันแน่ ยังจะต้องศึกษาและถกเถียงกันต่อไปอีก
บางท่านก็บอกว่า นิพพานเป็นเรื่องไกลตัว คนที่พูดกันทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้บรรลุนิพพานสักคน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะพูดกันให้เข้าใจได้
อันที่จริง เรื่องนี้ชวนให้งงตั้งแต่ถ้อยคำที่อยู่ในตัวปัญหา
นิพพานคืออะไร
อัตตาคืออะไร
อนัตตาคืออะไร
ถ้าไม่รู้จักความหมายของคำทั้ง ๓ นี้ ก็อย่างว่า-ไม่มีทางที่จะพูดกันให้เข้าใจได้
—————-
มีผู้เอาเรื่องนี้มาให้ผมตอบ
คำตอบของผมมีดังนี้
๑ นิพพานเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา
พูดอย่างนี้คงจะมีนักตรรกะลุกขึ้นมาแย้ง เพราะฉะนั้นขอบอกเสียก่อนว่า ที่บอกว่า “นิพพานเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา” ไม่ได้แปลว่าในศาสนาอื่นจะไม่มีพูดเรื่องนิพพาน ศาสนาอื่นจะมีนิพพานหรือไม่มี ถ้ามี นิพพานของเขาเป็นอย่างไร อยู่นอกขอบเขตของเรื่องนี้ ถ้าอยากจะถกกันกรุณายกเอาไปเถียงกันในวงอื่น
๒ พระพุทธศาสนานั้น ผู้ได้นามว่า “พระพุทธเจ้า” ท่านตรัสสอนไว้ พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตัวละครในตำนาน
๓ เราทุกวันนี้ไม่ได้ฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพราะเราเกิดไม่ทัน แต่ได้รับรู้คำสอนโดยการถ่ายทอดสืบต่อกันมา
๔ ในระยะแรก คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยวิธีทรงจำ คืออยู่ในความจำ หรือที่เข้าใจกันว่าอยู่ในสมอง
๕ จนถึงราว พ.ศ.๔๐๐ กว่าๆ จึงได้ตกลงกันให้ถ่ายทอดจากสมองออกมาบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือ
๖ หนังสือที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “พระไตรปิฎก” เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกก็คือพูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
๗ ควรทราบด้วยว่า พระพุทธศาสนาอันหมายถึงคำสอนและตัวบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนนั้น ตกมาถึงยุคปัจจุบันแยกกันเป็น ๒ นิกายใหญ่ คือ –
พวกที่ยึดถือตามคำสอนดั้งเดิม เรียกว่า “เถรวาท”
พวกที่ปรับแก้คำสอนไปตามที่พวกตนเห็นสมควร เรียกว่า “อาจารยวาท” (บาลี : อาจริยวาท)
เถรวาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หีนยาน” (ไม่ใช่คำที่เถรวาทเรียกตัวเอง แต่เป็นคำที่ฝ่ายมหายานเรียกเถรวาทเป็นเชิงดูหมิ่น)
อาจารยวาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มหายาน”
๘ พระพุทธศาสนาที่นับถือและแพร่หลายอยู่ในประเทศไทย เป็นนิกายเถรวาท พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทบันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี
๙ ทุกวันนี้ เมื่อจะหาคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ก็ต้องศึกษาสืบค้นจากพระไตรปิฎก จะฟังจากครูบาอาจารย์ที่แต่ละคนนับถือก็ได้ แต่ถึงที่สุดแล้วต้องตัดสินกันที่พระไตรปิฎก ไม่ใช่ตัดสินด้วยความเห็นของครูบาอาจารย์
๑๐ ในพระไตรปิฎกมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า “นิพพานไม่เป็นอัตตา” หรือจะพูดว่านิพพานเป็นอนัตตาก็ได้
๑๑ เพราะฉะนั้น เมื่อถามกันว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ก็ตอบได้ชัดเจนแน่นอนว่า ในพระไตรปิฎกอันเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า นิพพานไม่เป็นอัตตา คือนิพพานเป็นอนัตตา
๑๒ ส่วนใครจะเห็นว่านิพพานเป็นอื่นไปจากนี้ ก็มีสิทธิ์จะเห็นได้ตามสบาย แต่ต้องมีความซื่อตรง คือต้องบอกไปตรงๆ ว่าเป็นนิพพานตามความเห็นของข้าพเจ้า หรือเป็นนิพพานตามความเห็นของใคร-ก็ว่าไป
แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่านิพพานที่ถูกเห็นเป็นอย่างอื่นตามความเห็นของข้าพเจ้าหรือตามความเห็นของใครก็ตามนั้นเป็นนิพพานในพระพุทธศาสนา
เพราะนิพพานในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมคือนิพพานที่ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท
และพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า นิพพานไม่เป็นอัตตา คือนิพพานเป็นอนัตตา
๑๓ ที่เป็นปัญหาก็เพราะไม่จับเรื่องให้ถูกประเด็น
จับเรื่องให้ถูกประเด็นก็คือ พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทบอกไว้ว่า นิพพานไม่เป็นอัตตา คือนิพพานเป็นอนัตตา – ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องตีความ เพราะไม่ได้คลุมเครือตรงไหนเลย
ที่เป็นปัญหาก็เพราะบางคนบางกลุ่มไปเอานิพพานตามความเห็นของใครๆ ซึ่งแตกต่างกันมาเกณฑ์ให้เป็นนิพพานในพระพุทธศาสนา
นิพพานตามความเห็นของใครๆ ย่อมจะแตกต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน
เมื่อไปจับเอาความเห็นของใครๆ มาเป็นนิพพานในพระพุทธศาสนา ก็เลยเห็นไปว่า นิพพานในพระพุทธศาสนานี่ยังไม่ชัดเจน ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ยังไม่เคลียร์
ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกบอกไว้โต้งๆ แจ้งๆ และเคลียร์ที่สุดแล้วว่า นิพพานไม่เป็นอัตตา คือนิพพานเป็นอนัตตา ทำไมจึงยังจะตะแบงว่า นิพพานในพระพุทธศาสนานี่ยังไม่ชัดเจน ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ยังไม่เคลียร์
๑๔ เรื่องนี้พูดกันตรงๆ ก็คือ-ที่พระไตรปิฎกว่านิพพานไม่เป็นอัตตานั้นยังไม่ถูกใจใครบางคนนั่นเอง เพราะใครบางคนเห็นว่านิพพานเป็นอัตตา และสอนว่านิพพานเป็นอัตตา แต่มาเห็นในพระไตรปิฎกว่านิพพานไม่เป็นอัตตา ไม่ตรงกับที่ตนเชื่อและสอน จึงไม่พอใจ และจึงจะต้องหาทางทำให้นิพพานเป็นอัตตาให้จงได้
๑๖ วิธีที่ซื่อตรงก็คือ เมื่อพอใจ ถูกใจนิพพานตามความเห็นของใคร ก็ควรไปนับถือเลื่อมใสท่านผู้นั้น ไม่มีใครบังคับให้ต้องนับถือคำสอนในพระไตรปิฎกเลย คนในโลกที่ไม่ได้นับถือพระไตรปิฎก ตลอดจนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนามีเป็นอเนกอนันต์ ไม่เห็นแปลกอะไร
๑๗ แม้แต่ในพระพุทธศาสนาด้วยกันนี่เอง-ที่เป็นนิกายมหายาน บอกว่านิพพานเป็นอัตตา เป็นภพภูมิละเอียด มีอยู่ ณ แดนไกลโพ้น เป็นแดนที่ใครได้เข้าไปสถิตอยู่ก็จะเป็นอมตะนิรันดร-ก็มีสอนอยู่
ก็ไปนับถือเลื่อมใสได้ตามสบาย จะมาห่วงอะไรกับคำสอนในพระไตรปิฎกเถรวาท
แต่ไม่เอา
จะเป็นเถรวาทด้วย
แล้วก็จะเกณฑ์ให้พระไตรปิฎกเถรวาทบอกว่านิพพานเป็นอัตตาด้วย-ให้ตรงกับที่ข้าพเจ้าเชื่อและยึดถือ
๑๘ วิธีการที่ควรปฏิบัติในเรื่องนี้ก็คือ พระไตรปิฎกแสดงเรื่องนิพพานไว้อย่างไร ก็ยกมาว่าให้ตรงตามนั้น
ต่อจากนั้น ตนเห็นอย่างไรก็ว่าไป หรือจะอ้างความเห็นของใครอื่นอีกก็อ้างไป แต่อย่าเอาไปปนกับพระไตรปิฎก ปล่อยให้พระไตรปิฎกคงเป็นพระไตรปิฎกอยู่เช่นนั้น เพื่อที่คนอื่นๆ จะได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูเห็นไปตามที่ปรากฏ
ด้วยวิธีเช่นนี้ คำสอนในพระไตรปิฎกก็จะยังคงอยู่
ความเห็นของตนก็ไม่ได้ถูกปิดกั้น
ใครที่เข้ามาศึกษาพระไตรปิฎก และได้เห็นความเห็นของใครๆ ที่แสดงออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะได้ใช้ปัญญาพิจารณาได้อย่างอิสระ จะเชื่อตามพระไตรปิฎก หรือจะเชื่อตามความเห็นของใคร ก็แยกได้ชัดเจน
และก็อย่างที่บอกแล้ว-ต้องไม่เอาความเห็นของตนหรือของใครๆ มาประทับตราว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก
ถ้าความเห็นของตนไม่ตรงกับพระไตรปิฎก ก็ควรบอกไปอย่างกล้าหาญว่าตนไม่เห็นด้วยกับพระไตรปิฎก
ตามหลักการที่ถูกต้องนั้น จะแก้พระไตรปิฎกให้ตรงกับความเห็นของใครๆ ย่อมทำไม่ได้
ที่ทำได้คือแก้ความเห็นของตนให้ตรงกับพระไตรปิฎก
ถ้าไม่แก้ ก็ปล่อยพระไตรปิฎกไว้ตามเดิม
แล้วแสดงความเห็นของตนไปตามที่ตนเห็น ไม่ต้องเอาไปเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
และไม่ต้องมาบอกว่า ความเห็นของตนนี่แหละเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา
เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนามีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก
คำสอนอะไร ของใคร ที่นอกพระไตรปิฎก ย่อมไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา-โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาท
ถ้ามั่นใจว่าคำสอนตามที่ตนเชื่อ-ซึ่งไม่ตรงกับพระไตรปิฎก-เป็นคำสอนที่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวอะไรเลย ประกาศออกไปให้ชัดเจนว่าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าเอง อย่าเอาไปใส่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
และถ้ากล้าหาญจริง ก็ประกาศไปเลยว่าคำสอนของข้าพเจ้าหรือของคนที่ข้าพเจ้าเชื่อนี่แหละถูกต้องยิ่งกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่อย่ามาบอกว่าคำสอนของข้าพเจ้าหรือคำสอนของใครๆ ที่ข้าพเจ้าเชื่อนี่แหละเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
เหตุผลก็วนไปที่คำเดิมคือ-เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนามีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก
——————
เวลานี้เราพลาดกันมาก
พลาดกันตรงที่นิยมนับถือเลื่อมใสคำสอนของครูบาอาจารย์หรือความเห็นของนักคิดทั้งหลายว่านี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร
ฝ่ายครูบาอาจารย์ก็มักเพลิดเพลินอยู่กับความเลื่อมใสของผู้ศรัทธา แทนที่จะพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า (คือศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎกให้ถ่องแท้แล้วนำมาสอนญาติโยม) ก็มักตั้งตัวเป็นผู้แทนพระพุทธเจ้าเสียเอง คือบอกว่าคำสอนหรือความเห็นของข้าพเจ้านี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนาที่แสดงตัวอยู่ในสังคมในเวลานี้จึงเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์มากกว่าที่จะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
และครูบาอาจารย์ย่อมมีมากมายหลายหลาก
สำนักนี้สอนอย่างนี้
สำนักโน้นสอนอย่างโน้น
ความขัดแย้งจึงเกิด-อย่างที่เราเห็นกันอยู่
………..
จึงขอให้ช่วยกัน-ชวนกันศึกษาเรียนรู้ให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ทั่วถึง
ต่อจากนั้น จะนับถือเลื่อมใสครูบาอาจารย์ก็นับถือไป ไม่มีใครไปหวงห้าม เพียงแต่ขอให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถแยกออกบอกถูกว่าครูบาอาจารย์สอนอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ตรงกันหรือต่างกันอย่างไร
——————
เวลานี้มีอาการอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทั่วไป นั่นคือ ความคิดที่ว่า –
๑ “ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไปหาความรู้ความเข้าใจ แต่เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องทำให้ข้าพเจ้ารู้เข้าใจ”
๒ “ไม่ใช่ความผิดของข้าพเจ้าที่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แต่เป็นความผิดของท่านที่ไม่บอกข้าพเจ้าว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร”
ก็คือไม่อยากศึกษาเรียนรู้ ไม่อยากเหนื่อย อยากอยู่เฉยๆ แล้วก็ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้นมาเอง
แปลว่าความอุตสาหะของคนที่จะศึกษาเรียนรู้เข้าใจพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องลดน้อยถอยลงไป พร้อมกันนั้นความอุตสาหะของคนที่จะขวนขวายเพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์ศึกษาเรียนรู้เข้าใจพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องก็ลดน้อยลงไปด้วย
จึงขอร้องมายังญาติมิตรทั้งปวงให้จับหลักคิดให้ถูก นั่นคือ –
๑ คำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีอยู่ในพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎกนั้นเป็นสาธารณสมบัติ ใครๆ ย่อมมีสิทธิ์ศึกษาเรียนรู้ได้ จะอ่านที่แปลเป็นไทยหรือที่แปลเป็นภาษาอื่นๆ ก็มีให้อ่าน หรือจะเรียนบาลีให้มีความรู้สามารถอ่านต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาบาลีได้ ก็เอา เลือกทำได้ตามความสามารถ
๒ เมื่อศึกษารู้แล้วว่าพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างไร ต่อจากนั้นจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นเสรีภาพของเรา ไม่มีใครบังคับหรือข่มขู่ว่าถ้าไม่เชื่อจะตกนรก
๓ ต่อจากนั้นก็ตรวจสอบเทียบเคียงดูว่า ครูบาอาจารย์หรือผู้ที่เรานับถือสอนอย่างไร ตรงหรือต่างกับพระไตรปิฎก ก็เป็นเสรีภาพที่เราจะเลือกเชื่อได้อย่างเต็มที่อีกเช่นกัน แต่ต้องแยกให้ออกบอกให้ตรงว่าคำสอนของใครเป็นของใคร และนับถือให้ตรงตามความเป็นจริง
๔ ถ้าคำสอนของครูบาอาจารย์หรือของใครใดที่เราเชื่อถือตรงกับคำสอนในพระไตรปิฎก ก็ต้องเข้าใจให้ถูกตามเป็นจริงว่านั่นไม่ใช่คำสอนของครูบาอาจารย์หรือของใครใดที่เราเชื่อถือ หากแต่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า
อย่างดีที่เราจะพูดได้ก็คือ ครูบาอาจารย์หรือท่านผู้นั้นๆ สอนตรงตามพระไตรปิฎก
๕ ถ้าคำสอนของครูบาอาจารย์หรือของใครใดที่เราเชื่อถือไม่ตรงกับคำสอนในพระไตรปิฎก ก็ใช้เสรีภาพเลือกเชื่อเลือกนับถือได้เต็มที่ จะเชื่อครูบาอาจารย์หรือจะเชื่อพระไตรปิฎก ก็เลือกเอา ไม่มีใครบังคับให้ต้องเชื่อพระไตรปิฎก แต่ไม่เป็นการถูกต้องที่จะมาบอกว่าคำสอนของครูบาอาจารย์หรือของใครใดที่เราเชื่อถือนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา
อย่างดีที่เราจะพูดได้ก็คือ ครูบาอาจารย์หรือท่านผู้นั้นๆ สอนไม่ตรงตามพระไตรปิฎก แต่ข้าพเจ้าพอใจที่จะเชื่อถือมากกว่าที่จะเชื่อคำสอนในพระไตรปิฎก
ถ้าบอกไปตรงๆ อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา
ที่มีปัญหาอย่างยิ่งอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะจะเกณฑ์ให้คำสอนของครูบาอาจารย์หรือของใครใดที่ตนเชื่อถือเป็นคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงในพระพุทธศาสนา โดยไม่สนใจว่าพระไตรปิฎกจะว่าไว้อย่างไร
——————
การจับหลักแบบนี้ไม่ใช่เป็นพวกพระไตรปิฎกขึ้นสมอง หรือยึดถือพระไตรปิฎกแบบไม่ลืมหูลืมตา
แต่เหตุผลมีเป็นประการใด ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญอ่านข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ “นิพพาน – อนัตตา” (หน้า ๑๐-๑๑) ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ดังนี้ –
………..
“ประเด็นที่พิจารณาในที่นี้ คือ พระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าอย่างไร ไม่ได้พูดถึงความเห็นของบุคคล จึงเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงเอาคำพูดของคัมภีร์มาแสดงให้เห็นแท้ๆ ล้วนๆ
เมื่อแสดงหลักฐาน ถ้อยคำของคัมภีร์เสร็จแล้ว ตนเองมีความเห็นอย่างไรก็แสดงออกไป ไม่เอาไปปะปนกับถ้อยคำของคัมภีร์ ผู้อ่านจึงจะไม่สับสนและไม่เข้าใจผิด
ต้องการรู้อย่างเดียวว่า คัมภีร์พูดว่าอย่างไร ก็เอาถ้อยคำของคัมภีร์มาแสดงจำเพาะแท้ ๆ ล้วน ๆ ไม่เอาถ้อยคำและความคิดเห็นของตนเข้าไปปะปน
ต่อจากนั้นตนมีความเห็นอย่างไร ในเรื่องนั้น หรือได้เห็นผลจากการปฏิบัติของตน หรือของสำนักของตนอย่างไร ก็บอกแจ้งหรือแสดงไปตามนั้น (ผู้อื่นไม่จำเป็นต้องยอมรับและเห็นด้วย)
ถ้อยคำหรือมติของคัมภีร์นั้นๆ ตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ไปตามตรง
คัมภีร์นั้นๆ ตนจะเชื่อหรือไม่ หรือจะว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ว่าตนจะเชื่อหรือไม่ ข้อความในคัมภีร์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น”
………..
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ เมษายน ๒๕๖๐
๑๗:๓๗