บาลีวันละคำ

วิทยากร (บาลีวันละคำ 1,770)

วิทยากร

บอกให้เขารู้ ฤๅจะสู้ทำให้เขาดู

แยกศัพท์เป็น วิทยา + กร

(๑) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต

วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”

วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ

สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺปศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)

วิชฺชา + กร = วิชฺชากร > วิทยากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำความรู้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิทยากร” ไว้ว่า –

วิทยากร : (คำนาม) ผู้ทรงความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาแขนงต่าง ๆ เช่น วิทยากรในการสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจ. (ส.).”

…………..

อภิปราย :

วิทยากร” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยที่นิยมใช้คำว่า “กร” ต่อท้ายสถานะของบุคคลที่ทำกิจในด้านนั้นๆ เช่น

– ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในพิธีการต่างๆ เรียกว่า “พิธีกร

– ผู้ถือคทาเดินนำวงโยธวาทิต เรียกว่า “คทากร

– ผู้ทำหน้าที่บริการ คือรับใช้ในภัตตาคารและโรงแรมเป็นต้น เรียกว่า “บริกร

ครั้นมาถึง-ผู้บรรยายให้ความรู้ในการประชุม อบรม หรือสัมมนา ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่เป็นกิจกรรมให้ความรู้ ก็ใช้หลักเดิม คือเอาคำว่า “กร” ไปต่อท้ายคำว่า “วิทยา” ซึ่งแปลว่าความรู้ เป็น “วิทยากร

คำเหล่านี้บางคำก็ติด เช่น “พิธีกร” และ “วิทยากร” เป็นต้น แต่บางคำก็ไม่ติด เช่น “คทากร” คนมักนิยมเรียกเป็นคำอังกฤษว่า ดรัมเมเยอร์ (drum major) “บริกร” ก็เรียกกันว่า “บ๋อย” เป็นต้น

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล “วิทยากร” เป็นอังกฤษว่า an expert (ผู้เชี่ยวชาญ)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล expert เป็นบาลีดังนี้ –

(1) katahattha กตหตฺถ (กะ-ตะ-หัด-ถะ) “ผู้มีมืออันตนกระทำแล้ว” = ผู้ฝึกฝนฝีมือมาแล้วเป็นอย่างดี, คนมีฝีมือ

(2) katupāsana กตุปาสน (กะ-ตุ-ปา-สะ-นะ) “ผู้ยิงไม่พลาดเป้า” = ผู้เชี่ยวชาญ

(3) pavīṇa ปวีณ (ปะ-วี-นะ) “ผู้ชำนาญเพลงพิณ” = ผู้มีประสบการณ์

(4) nipuṇa นิปุณ (นิ-ปุ-นะ) “ผู้งามในงาน” = ผู้ละเอียดอ่อน, ผู้ทรงคุณวุฒิ

(5) kusala กุสล (กุ-สะ-ละ) “ผู้ถือเอากิจทั้งปวงด้วยปัญญา” = ผู้ฉลาด

(6) kovida โกวิท (โก-วิ-ทะ) “ผู้ไม่มีอะไรที่ไม่รู้” “ผู้รู้จักพูด” = ผู้ฉลาด

(7) cheka เฉก (เฉ-กะ) “ผู้แตกฉาน” = ผู้มีประสบการณ์

สรุปได้ว่า “วิทยากร” น่าจะไม่ใช่ผู้ให้ความรู้แก่คนอื่นอย่างเดียว แต่ต้องสามารถทำได้ปฏิบัติได้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?

ได้แต่รู้พูดไม่ได้เหมือนใบ้งั่ง

พูดให้ฟังก็ไม่ล้ำทำให้เห็น

แต่ทำได้ยังไม่ล้ำเท่าทำเป็น

โลกร่มเย็นถ้าคนระยำเลิกทำเลว

11-4-60