ธรรมสมโพชฌ์ (บาลีวันละคำ 1,771)
ธรรมสมโพชฌ์
ไม่ใช่ “ธรรมสมโภช”
อ่านว่า ทำ-มะ-สม-โพด
แยกศัพท์เป็น ธรรม + สมโพชฌ์
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “สมโพชฌ์”
บาลีเป็น “สมฺโพชฺฌ” (สำ-โพด-ชะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลง ธ ที่ (พุ)-ธฺ กับ ย เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: สํ > สมฺ + พุธฺ = สมฺพุธฺ + ณฺย = สมฺพุธณฺย > สมฺพุธย > สมฺพุชฺฌ > สมฺโพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อม” “เครื่องรู้พร้อม” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม (complete understanding)
ธมฺม + สมฺโพชฺฌ = ธมฺมสมฺโพชฺฌ (ทำ-มะ-สำ-โพด-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “การตรัสรู้ธรรม”
“ธมฺมสมฺโพชฺฌ” เขียนเป็นไทยตามประสงค์เป็น “ธรรมสมโพชฌ์” อ่านตามประสงค์ว่า ทำ-มะ-สม-โพด
…………..
อภิปราย :
คำว่า “สมโพชฌ์” ในคำว่า “ธรรมสมโพชฌ์” นี้ เสียงอ่านไปตรงกับคำว่า “สมโภช” ซึ่งหมายถึงพิธีมงคลเพื่อความยินดีร่าเริง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมโภช : (คำนาม) การกินร่วม, การเลี้ยงอาหาร; งานเลี้ยง, งานฉลองในพิธีมงคลเพื่อความยินดีร่าเริง เช่น งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี งานสมโภชพระสุพรรณบัฏ (ใช้เฉพาะแต่ในงานพระราชพิธีเท่านั้น). (ป.; ส. สมฺโภชน)”
เข้าใจว่าผู้คิดคำว่า “ธรรมสมโพชฌ์” คงจะเล็งไปที่เสียงอ่านว่า สม-โพด นั่นเอง แต่ใช้รูปคำให้ต่างออกไป เป็นอย่าง “คำพ้องเสียง” คือเสียงเหมือนกัน แต่รูปและความหมายต่างกัน ตัวอย่างคำง่ายๆ ก็เช่น – การ กาล การณ์ กาฬ กาน กาญจน์
เอาเสียง “สมโภช” งานฉลอง มาใช้ให้เป็นนัยประหวัด คือได้ยินเสียงนี้ คิดไปถึงความหมายโน้น แต่รูปคำที่เห็นมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง นับเข้าในประเภทความคิดสร้างสรรค์ชนิดหนึ่ง
คำประเภทนี้ที่พบบ่อยก็คือชื่อคน เช่น “วันวิสาข์” เป็นคำเดิม (อาจเนื่องมาจากเกิดในวันวิสาขบูชา) ต่อมาก็มีคนตามอย่าง แต่สะกดเป็น “วรรณวิสา” บ้าง “วัลย์วิสาห์” บ้าง อาจเป็นเพราะได้ยินแต่คำอ่านว่า วัน-วิ-สา แต่ไม่ทราบว่าคำเดิมสะกดอย่างไร จึงคิดรูปคำเอาตามแต่จะพอใจ ได้เสียงเหมือนกัน แต่ความหมายคนอย่าง
ข้อยุ่งยากของคำประเภทนี้ก็คือ ถ้าฟังแต่เสียงอ่านโดยไม่เห็นรูปศัพท์ เป็นต้องเข้าใจความหมายผิด และถ้าเห็นรูปศัพท์ ก็มักจะสงสัยว่าแปลว่าอะไร หรือแม้จะเดาได้ก็ยังไม่พ้นความเสี่ยงที่จะไม่ตรงกับเจตนาของผู้คิดคำนั้นๆ
มองในแง่ดีก็คือ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ได้ยินเสียง แต่เข้าใจความหมายผิด
: ยังไม่ตายสนิทเท่ากับรู้หน้า-แต่ไม่รู้ใจ
12-4-60