บาลีวันละคำ

เอวังกิ่ม (บาลีวันละคำ 1,776)

เอวังกิ่ม

โยมยิ้มสร้าง

อ่านว่า เอ-วัง-กิ่ม

ประกอบด้วย เอวัง + กิ่ม

(๑) “เอวัง

บาลีเขียน “เอวํ” อ่านว่า เอ-วัง เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมเสมอ

เอวํ” แปลว่า อย่างนั้น, เช่นนั้น, อย่างนี้, เช่นนี้, ด้วยอาการอย่างนั้น, ด้วยอาการอย่างนี้, ด้วยประการฉะนี้ (so, thus, in this way)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เอวัง : (ภาษาปาก) จบ, หมดสิ้น.”

แต่เดิมพระสงฆ์แสดงธรรมด้วยการยกข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดง (ธรรมเนียมพระถือคัมภีร์เทศน์มาจากเหตุนี้) พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี พระผู้เทศน์จึงต้องแปลเป็นคำไทยสลับกันไป เป็นที่มาของคำว่า “แปลร้อย” (แปลร้อย : แปลเอาความโดยยกศัพท์บาลีมาคั่นไว้. ร่องรอยสำนวนแปลร้อยที่เรารู้จักกันดีคือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก)

เมื่อจบข้อความที่เทศน์ จะมีคำว่า “เอวํ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้ามีเนื้อความดังที่แสดงมานี้” แต่สำนวนที่นิยมกันมากที่สุดและถือว่าเป็นแบบแผนคือ “เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้” จนเป็นที่รู้กันว่า เมื่อลงท้ายว่า “เอวัง ก็มี…” ก็คือ จบการแสดงพระธรรมเทศนา

คำว่า “เอวัง” จึงเป็นสำนวน มีความหมายว่า จบเรื่อง หมดเรื่อง ยกเลิก เลิกกันไป

(๒) “กิ่ม

เป็นคำที่อ่านผิดมาจากคำว่า “ก็มี” เนื่องจากคัมภีร์เทศน์สมัยก่อนเขียนภาษาไทยด้วยอักษรขอม (เรียกกันว่า “ขอมไทย”) ตามอักขรวิธีของอักษรขอม

อักษรขอมทุกตัวจะต้องมีเชิง (ดูภาพประกอบ) ตัวนำใช้ตัวเต็ม แต่ตัวตามหรือตัวสะกดใช้ตัวเชิง เขียนไว้ใต้ตัวนำ

คำว่า “ก็มี” ถือว่า เป็นตัวนำ เป็นตัวตาม ลำดับการเขียนคือ

– เขียนตัว (ไม่มีไม้ใต่คู้)

– แล้วเขียนเชิงตัว ไว้ใต้

– เขียนสระ อี ไว้บนตัว

อนึ่ง สระ อี นั้น โบราณเขียนสระ อิ ก่อนแล้วจึงเติมหางเพื่อให้เป็นสระ อี หางสระ อี นี้มักจะไม่เขียนติดกับตัวสระ อิ มองเผินๆ จึงเหมือนไม้เอกอยู่บนสระ อิ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ก็มี” จึงมีรูปคำเหมือน “กิ่ม” (ดูภาพประกอบ)

คำสุดท้ายของหนังสือเทศน์คือ “เอวํก็มี” เวลาอ่านเต็มๆ พระผู้เทศน์ที่เทศน์เป็น จะอ่านว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” (เติม “ด้วยประการฉะนี้” เข้ามา)

พระที่ไม่สันทัดอักขรวิธีขอม เห็นคำว่า “เอวํก็มี” ที่เขียนตามอักขรวิธีขอม (ดูภาพประกอบ) ไม่เข้าใจว่าต้องอ่านว่า “เอวังก็มี (ด้วยประการฉะนี้)” จึงอ่านตามอักขรวิธีไทยว่า “เอวังกิ่ม” และเมื่อไม่มีใครทักท้วง ก็จึงเข้าใจว่าอ่านถูกต้อง

ครั้นนานมา คำว่า “เอวังกิ่ม” ซึ่งเป็นคำที่อ่านผิดเพราะไม่เข้าใจอักขรวิธีขอมจึงกลายเป็นคำถูกไปอีกคำหนึ่ง

ยังมีเล่าแถมท้ายอีกหน่อยหนึ่งว่า ผู้มีศรัทธานิยมสร้างหนังสือใบลานเทศน์ถวายวัด เมื่อจบข้อความเทศน์นิยมจารชื่อผู้สร้างต่อท้ายไว้ด้วย พอดีกัณฑ์เทศน์ผูกนั้นผู้สร้างชื่อ “ยิ้ม” จึงมีคำว่า “ยิ้มสร้าง” ต่อท้าย พระผู้เทศน์ก็พาซื่ออ่านต่อไปว่า “โยมยิ้มสร้าง”

ข้อความลงท้ายกัณฑ์เทศน์วันนั้นจึงเป็นว่า “เอวังกิ่ม โยมยิ้มสร้าง

เป็นเรื่องเล่าชวนหัวในหมู่ชาววัดสืบมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผิดยอมรับผิด

เสียหน้าชั่วเวลาเพียงนิด

แต่เป็นบัณฑิตตลอดกาลนาน

: ตะแบงผิดให้เป็นถูก

คือโง่เง่าเข้ากระดูก

ไปชั่วลูกชั่วหลาน

: ดอกเอ๋ย เจ้าดอกลาน

พอลูกเจ้าออก พอดอกเจ้าบาน

ต้นเจ้าก็แหลกลาญทุกทีเอย

17-4-60