ราชคฤห์ (บาลีวันละคำ 1,781)
ราชคฤห์
อ่านว่า ราด-ชะ-คฺรึ
แยกศัพท์เป็น ราช + คฤห์
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “คฤห์”
บาลีเป็น “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย
: คหฺ + อ = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)
ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ ค-(ห) เป็น เอ : คห > เคห
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)
บาลี “คห” สันสกฤตเป็น “คฤห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“คฤห : (คำนาม) เรือน, บ้าน; ภริยา, ภารยา, วธู, เมีย; นาม; a house, a mansion; a wife; an appellation, name.”
ราช + คห = ราชคห > ราชคฤห > ราชคฤห์ แปลตามศัพท์ว่า “เรือนของพระราชา” หรือ “เรือนหลวง”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ราชคฤห์ : นครหลวงของแคว้นมคธ เป็นนครที่มีความเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยคณาจารย์เจ้าลัทธิ พระพุทธเจ้าทรงเลือกเป็นภูมิที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นปฐม พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ครองราชสมบัติ ณ นครนี้.”
…………..
“ราชคฤห์” เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยพุทธกาล เป็นเมืองในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ 5 ลูก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เบญจคีรีนคร” หรือที่ในคัมภีร์ใช้คำว่า “คิริพฺพช” (คิ-ริบ-พะ-ชะ) แปลว่า “เมืองที่มีภูเขาเป็นคอก” คือมีภูเขาล้อมรอบเหมือนคอกวัว
ภูเขา 5 ลูกที่ล้อมรอบเมืองราชคฤห์ คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ
“ราชคฤห์” เป็นเมืองที่พระอรหันต์ 500 รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานพร้อมใจกันเลือกเป็นที่ประชุมทำสังคายนาเมื่อหลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน สถานที่ประชุมคือถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก สิ้นเวลา 7 เดือนจึงเสร็จ
เมืองราชคฤห์เป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนาทั้งในระยะเริ่มต้นการประกาศคำสอนให้เป็นที่ปรากฏ ทั้งในช่วงเวลาที่รวบรวมคำสอนให้เป็นหลักฐานเพื่อเผยแผ่หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาที่ชาวโลกได้รู้จักในทุกวันนี้มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองราชคฤห์นี้เอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กระท่อมของคนที่รู้จักพอ
: ให้ความสุขมากกว่าคฤหาสน์ห้องหอของคนที่ไม่รู้จักอิ่ม
23-4-60