บาลีวันละคำ

คงคา (บาลีวันละคำ 1,782)

คงคา

คำธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา

คงคา” บาลีเป็น “คงฺคา” อ่านว่า คัง-คา รากศัพท์มาจาก –

(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่ (ค)-มฺ เป็นนิคหิตแล้วแปลงเป็น งฺ (คมฺ > คํ > คงฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คมฺ + = คมค > คํค > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “ห้วงน้ำที่เป็นไปทุกแห่ง

(2) คํ (ห้วงน้ำใหญ่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ คํ เป็น งฺ (คํ > คงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คํ + คมฺ = คํคมฺ + กฺวิ = คํคมฺกฺวิ > คงฺคมกฺวิ > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “แม่น้ำที่ไหลมาทำให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไป” (คือเมื่อไหลมาก็รวมเอาน้ำในลำน้ำแหล่งน้ำน้อยใหญ่มาด้วย ก่อให้เกิดปริมาณน้ำมากมายมหาศาล)

คงฺคา” ในบาลี ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แม่น้ำทั่วไป

(2) แม่น้ำสำคัญที่ชื่อ “คงฺคา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คงคา ๑ : (คำนาม) นํ้า, แม่นํ้า, ใช้เป็นสามัญว่า แม่พระคงคา หมายถึง เจ้าแม่ประจํานํ้า, ชื่อแม่นํ้าสําคัญสายหนึ่งในประเทศอินเดีย. (ป., ส. คงฺคา ว่า ผู้ไปเร็ว, ผู้ไหลเชี่ยว); เรียกส่วนของท่อเหล้าในโรงต้มกลั่นว่า ท่อคงคา.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บรรยายเรื่องแม่น้ำ “คงคา” ในประเทศอินเดียไว้ ดังนี้ –

คงคา : แม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 1 ในมหานที 5 ของชมพูทวีป (คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี) และเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 1 ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งศาสนิกปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ไปอาบน้ำล้างบาป อีกทั้งในพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ในชมพูทวีป และกษัตริย์แห่งลังกาทวีป ก็ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคานี้ด้วย, แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ 2,510 กม. ตามที่บันทึกไว้ในอรรถกถาว่า มีต้นกำเนิดจากสระอโนดาต ในแดนหิมพานต์ ไหลไปสู่มหาสมุทร จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ผ่านเมืองสำคัญมากแห่ง เช่น สังกัสสะ ปยาคะ (เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ประยาค ปัจจุบันคือ เมือง Allahabad เป็นที่บรรจบของแม่น้ำคงคา กับยมุนา) พาราณสี อุกกาเวลา (อุกกเจลา ก็ว่า) ปาตลีบุตร (เมืองหลวงของมคธ ยุคหลังราชคฤห์) จัมปา (เมืองหลวงของแคว้นอังคะ) และในที่สุดออกทะเลที่อ่าวเบงกอล (Bay of Bengal), ปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า Ganges.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คงคายังมีเวลาอิ่มน้ำ

: จิตมนุษย์สุดลึกล้ำ ดังฤๅจะมีเวลาอิ่มปรารถนา

24-4-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย