สาลวโนทยาน (บาลีวันละคำ 1,783)
สาลวโนทยาน
อ่านว่า สา-ละ-วะ-โน-ทะ-ยาน
แยกศัพท์เป็น สาล + วน + อุทยาน
(๑) “สาล”
บาลีอ่านว่า สา-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สลฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สลฺ > สาล)
: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เป็นไปปกติ”
(2) สาร (แก่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ร เป็น ล (สาร > สาล)
: สาร + ณ = สารณ > สาร > สาล แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่มีแก่น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาล” ว่า a Sal tree (ต้นสาละ) และบอกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta
“สาล” เป็นชื่อต้นไม้ในพุทธประวัติ เราเรียกทับศัพท์ว่า “ต้นสาละ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาละ : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นชนิด Shorea robusta C.F. Gaertn. ในวงศ์ Dipterocarpaceae. (ป., ส.).”
เป็นอันว่าพจนานุกรมฯ ไม่ได้ให้ความกระจ่างใดๆ นอกจากบอกว่าเป็นชื่อต้นไม้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า –
“สาละ : ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งของอินเดีย พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพานใต้ร่มไม้สาละ (เคยแปลกันว่า ต้นรัง).”
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
(๓) “อุทยาน”
เป็นรูปคำสันสกฤต “อุทฺยาน” บาลีเป็น “อุยฺยาน” (อุย-ยา-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ยา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่าง อุ + ยา, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อุ + ยฺ + ยา = อุยฺยา + ยุ > อน = อุยฺยาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่แหงนดูพลางเดินไป”
(2) อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + อิ (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ อะ ที่ ย เป็น อา (อิ > ย > ยา), ซ้อน ยฺ ระหว่าง อุ + ย, แปลง ยุ เป็น อน,
: อุ + ยฺ + อิ > ย = อุยฺย > อุยฺยา + ยุ > อน = อุยฺยาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้ขวนขวายเพื่อเล่นและพักผ่อน”
“อุยฺยาน” หมายถึง สวน, ดงไม้อันรื่นรมย์, สวนหลวง (a park, pleasure grove, a royal garden)
บาลี “อุยฺยาน” สันสกฤตเป็น “อุทฺยาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อุทฺยาน : (คำนาม) สวน; สวนหลวง; การออกไป; การเข้าฉากหรือเข้าโรง; เหตุ, การย์; a garden, a park; a royal garden; going forth, exit; motive, purpose.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อุทยาน” อุด-ทะ-ยาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุทยาน : (คำนาม) สวน. (ส.; ป. อุยฺยาน).”
………….
การประสมคำ :
๑. สาล + วน = สาลวน > สาลวัน แปลว่า “ป่าสาละ” (Sal grove) แต่พึงเข้าใจว่า คำว่า “วัน” หรือ “ป่า” ในที่นี้ไม่ใช่ป่าชัฏหรือป่ารกทึบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงพื้นที่ซึ่งมีต้นสาละขึ้นอยู่หนาแน่นและได้รับการปรับแต่งให้ร่มรื่นเหมาะแก่การเที่ยวพักผ่อน
๒. สาลวน + อุยฺยาน = สาลวนุยฺยาน > (สาลวน + อุทยาน แผลง อุ เป็น โอ [อุทยาน > โอทยาน] : สาลวน + โอทยาน) สาลวโนทยาน แปลว่า “สวนป่าสาละ” คือ ป่าไม้สาละที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นอุทยาน
…………..
“สาลวโนทยาน” (บาลี : สาลวนุยฺยาน) ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติมี 2 แห่ง คือ –
๑. เป็นอุทยานอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ พระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส คือสิทธัตถราชกุมาร ที่ใต้ต้นสาละในอุทยานแห่งนี้
๒. เป็นอุทยานอยู่นอกกำแพงเมืองกุสินาราทางทิศใต้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับระหว่างต้นสาละสองต้นเสด็จดับขันธปรินิพพานที่อุทยานแห่งนี้
อนึ่ง พึงทราบว่า ไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกตามวัดหลายแห่ง มีลูกเป็นผลกลมขนาดขนาดเขื่องสีน้ำตาล และเรียกกันว่า สาละลังกา นั้น ไม่ใช่สาละที่กล่าวถึงในพุทธประวัติ เป็นไม้คนละชนิดกัน มีคนไทยจำนวนมากที่ยังเข้าใจผิด จึงขอบอกกล่าวไว้ ณ ที่นี้อีกทางหนึ่ง
สาละที่กล่าวถึงในพุทธประวัติหน้าตาเป็นอย่างไร โปรดดูภาพประกอบ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ท่านอาจไม่มีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้สถานที่ประสูติและปรินิพพานแม้สักครั้งเดียวในชีวิต
: แต่ท่านก็ยังมีสิทธิ์ปฏิบัติธรรมได้ทุกวันเวลา
: พระบรมศาสดาของพวกเราตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า ปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด
26-4-60