วนิพก – ยาจก (บาลีวันละคำ 1,784)
วนิพก – ยาจก
“วนิพก” อ่านว่า วะ-นิบ-พก ก็ได้ วะ-นิ-พก ก็ได้
“ยาจก” อ่านว่า ยา-จก
(๑) “วนิพก”
บาลีเป็น “วนิพฺพก” อ่านว่า วะ-นิบ-พะ-กะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (บรรยาย, รำพัน) + วกฺ (ธาตุ = ถือ, ยึด, จับ), อ ปัจจัย, แปลง วณฺณ เป็น วนิ, แปลง ว ที่ ว-(กฺ) เป็น พ (วกฺ > พก), ซ้อน พฺ
: วณฺณ > วนิ + วกฺ > พกฺ : วนิ + พฺ + พกฺ = วนิพฺพกฺ + อ = วนิพฺพก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รำพันแล้วรับเอารางวัล”
“วนิพฺพก” หมายถึง คนเดินทางไกล, คนขอทาน, คนเข็ญใจ (a wayfarer, beggar, pauper)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วนิพก : (คำนาม) คนขอทานโดยร้องเพลงหรือดีดสีตีเป่าให้ฟัง, ใช้ว่า วณิพก หรือ วันนิพก ก็มี. (ป. วนิพฺพก).”
แต่พจนานุกรมฯ ก็เก็บรูปคำ “วณิพก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“วณิพก : (คำแบบ) (คำนาม) วนิพก. (ป. วณิพฺพก, วนิพฺพก; ส. วนีปก, วนียก).”
ควรสังเกตว่า “วณิพก” (วณิ– ณ เณร) พจนานุกรมฯ บอกว่า เป็นคำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
แต่ “วนิพก” (วนิ– น หนู) พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าเป็นคำแบบ ทั้ง “วนิพก” และ “วณิพก” ก็มาจากบาลีทั้งคู่ ต่างกันตรง น หนู กับ ณ เณร เท่านั้น แต่คำหนึ่งเป็นคำแบบ อีกคำหนึ่งไม่เป็นคำแบบ นับว่าชอบกลอยู่
บาลี “วนิพก” สันสกฤตเป็น “วนีปก” และ “วนียก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วนียก, วนีปก : (คำนาม) ยาจก, ผู้ขอทาน; a beggar.”
(๒) “ยาจก”
บาลีอ่านว่า ยา-จะ-กะ รากศัพท์มาจาก ยาจฺ (ธาตุ = ขอ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ยาจฺ + ณฺวุ > อก = ยาจก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขอ” หมายถึง ผู้ร้องขอ, ผู้ขอ, ผู้รับทาน, ขอทาน (requesting, one who begs, a recipient of alms, a beggar)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ยาจก : (คำนาม) ผู้ขอ; a beggar, a mendicant.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยาจก, ยาจนก : (คำนาม) คนขอทาน. (ป., ส.).”
…………..
อภิปราย :
“วนิพก – ยาจก” ในภาษาไทยมักได้ยินควบคู่กัน และแยกความหมายค่อนข้างชัดเจน คือ ถ้าขอเงียบ เรียกว่า “ขอทาน” คือคำแปลตรงตัวของ “ยาจก” แต่ถ้าขอด้วยวิธีร้องเพลงหรือดีดสีตีเป่าให้ฟัง เรียกว่า “วนิพก” แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าทั้งสองพวกนี้ก็คือคนขอทานนั่นเอง เพียงแต่ “วนิพก” ออกจะมีภาษีกว่าตรงที่ร้องเพลงหรือดีดสีตีเป่าเป็นการตอบแทน
ในคัมภีร์เมื่อกล่าวถึง “วนิพก – ยาจก” มักจะรวมคนที่ถือว่าอยู่ในจำพวกเดียวกันเข้าไว้ด้วย นั่นคือ “สมณ–พฺราหฺมณ–กปณ–อทฺธิก–วนิพฺพก–ยาจก”
“สมณ–พฺราหฺมณ” คือนักบวช
“กปณ” (กะ-ปะ-นะ) แปลว่า “คนกำพร้า” คือ ยากจน, ทุกข์ยาก, ลำเค็ญ (poor, miserable, wretched)
“อทฺธิก” (อัด-ทิ-กะ) แปลว่า “คนเดินทาง” คือ ผู้ท่องเที่ยว, คนเดินทาง, นักท่องเที่ยว (a wanderer, wayfarer, traveler)
ลักษณะร่วมของคนเหล่านี้คือ ไม่อยู่ในบ้านเรือน ใช้ชีวิตแบบจาริกเรื่อยไป แต่จุดประสงค์อาจแตกต่างกัน บางพวกเพื่อแสวงหาเป้าหมายของชีวิต และบางพวกเพื่อการดำรงชีวิต
กล่าวกันว่าดินแดนที่มีบุคคลดังกล่าวนี้ดาษดื่นที่สุดคือ อินเดีย
…………..
ดูก่อนภราดา!
โปรดถามตัวท่านเองว่า-อยู่เพื่อการอันใด?
: ถ้าอยู่เพียงเพื่อดำรงชีวิต ก็ไม่ผิดจากสัตว์
: ถ้าอยู่เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีเลิศ ก็มีสิทธิ์ประเสริฐกว่าสัตว์
27-4-60