พาราณสี (บาลีวันละคำ 1,787)
พาราณสี
อ่านว่า พา-รา-นะ-สี
คำว่า “พาราณสี” รากศัพท์มาจาก วานรสีส (วา-นะ-ระ-สี-สะ แปลว่า “หัวลิง”), แปลง ว ที่ วา-(นร-) เป็น พ (วานร > พานร), กลับ นร ที่ (วา)-นร เป็น รน (วานร > วารน), ทีฆะ อะ ที่ ร-(น) เป็น อา (-รน > –ราน), แปลง น เป็น ณ (ราน > ราณ), ลบ ส ที่ (สี)-ส (สีส > สี) และ “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ (พาราณ)-สี (พาราณสี > พาราณส) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วานรสีส > พานรสีส > พารนสีส > พารานสีส > พาราณสีส > พาราณสี > พาราณส + อี = พาราณสี แปลตามศัพท์ว่า “เมืองที่มีกะโหลกหัวลิง หรือมีก้อนหินซึ่งมีลักษณะเหมือนหัวลิง”
คัมภีร์ จักกวาฬทีปนี ซึ่งพระสิริมังคลาจารย์แห่งนครเชียงใหม่รจนาเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงที่มาของชื่อ “พาราณสี” ไว้ดังนี้ –
… ในฎีกาปุรวรรคได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อจะพึงกล่าวว่า วานรสีส โดยอรรถวิเคราะห์ว่า มีศีรษะวานรหรือก้อนหินมีสัณฐานดังศีรษะวานร ก็กล่าวว่าพาราณสี เพราะอาเทศ ว เป็น พ แปร ร ไว้เบื้องหน้า น ไว้เบื้องหลัง ทีฆะ ร เป็น รา อาเทศ น เป็น ณ, ลบ ส.” …
คัมภีร์สัทธัมมปกาสินี ภาค 2 อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงที่มาของชื่อ “พาราณสี” ไว้ว่า –
“แม่น้ำชื่อพาราณสา มีอยู่, นครอันตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำพาราณสา ชื่อ พาราณสี.”
สรุปที่มาของชื่อ “พาราณสี” ว่า –
(1) เพราะเป็นเมืองที่มีกะโหลกหัวลิง (เช่นขุดพบกะโหลกหัวลิงเมื่อเริ่มสร้างเมือง) หรือเพราะสถานที่ตรงนั้นมีก้อนหินซึ่งมีลักษณะเหมือนหัวลิง (ปัจจุบันไม่มีการกล่าวถึงว่าก้อนหินนั้นอยู่ตรงไหน)
(2) เพราะตั้งเมืองใกล้แม่น้ำ “พาราณสา” จึงเรียกชื่อเมืองว่า “พาราณสี”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“พาราณสี : ชื่อเมืองหลวงของแคว้นกาสี อยู่ริมแม่น้ำคงคา ปัจจุบันเรียก Banaras หรือ Benares (ล่าสุด รื้อฟื้นชื่อในภาษาสันสกฤตขึ้นมาใช้ว่า Varanasi), ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ อยู่ห่างจากตัวเมืองพาราณสีปัจจุบันประมาณ 6 ไมล์.”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บชื่อเมืองแห่งนี้ไว้ด้วย ดังนี้ –
“วาราณสี, วราณสี : (คำนาม) บุณยนครเพณาเรศ; the holy city Benares.”
………….
“พาราณสี” เป็นชื่อเมืองที่คนไทยคุ้นหูมากที่สุด อันเนื่องมาจากนิทานชาดกที่เราได้ยินได้ฟังกันมาซึ่งมักจะขึ้นว่า … เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี …
กล่าวกันว่า บรรดาเมืองโบราณในอินเดีย ไม่มีเมืองไหนอยู่ยั้งยืนยงเหมือนเมืองพาราณสี เพราะตั้งแต่ตั้งเป็นเมืองมาในอดีตกาลจนถึงปัจจุบันนี้เมืองพาราณสีเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นบ้านเมืองมาโดยตลอด ไม่เคยเป็นเมืองร้างเลยไม่ว่าในสมัยใดๆ
ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือ แม่น้ำคงคาฝั่งตัวเมืองพาราณสีมีอาคารบ้านเรือนคับคั่ง แต่ฝั่งตรงข้ามกลับว่างโล่งเหมือนไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ บางคนจึงกล่าวว่า ฝั่งเมืองพาราณสีเป็นฝั่งสวรรค์ ตรงข้ามเป็นฝั่งนรก ภาพเมืองพาราณสีที่เผยแพร่ให้เราเห็นนั้นล้วนเป็นภาพฝั่งตัวเมือง จึงแทบไม่มีใครเคยเห็นหรือรู้จักฝั่งตรงข้าม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเห็นอดีตเป็นบทเรียน ท่านก็เป็นศาสตราจารย์
: ถ้าเห็นอดีตเป็นของโบราณ ท่านก็เป็นแค่นักสะสมของเก่า
29-4-60