ค่านิยม (บาลีวันละคำ 1,794)
ค่านิยม
อ่านตรงตัวว่า ค่า-นิ-ยม
แยกศัพท์เป็น ค่า + นิยม
(๑) “ค่า”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ค่า : (คำนาม) มูลค่าหรือราคาของสิ่งใด ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่มีประโยชน์ในทางใช้สอย แลกเปลี่ยน หรือทางจิตใจเป็นต้น บางอย่างก็ประเมินเป็นเงินได้ บางอย่างก็ประเมินเป็นเงินไม่ได้ เช่น ทองคำเป็นของมีค่า เวลามีค่ามาก; จำนวนเงินที่เป็นราคาสิ่งของหรือบริการเป็นต้น เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า ค่าโดยสาร ค่าอาหาร; (คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์) จำนวนหรือตัวเลขที่ระบุปริมาณหรือขนาดของตัวแปร; (สำนวน) เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่ามากจนไม่อาจประเมินเป็นเงินได้ว่า เป็นสิ่งที่หาค่ามิได้.”
(๒) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + อ = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิยม : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”
ค่า + นิยม = ค่านิยม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ค่านิยม : (คำนาม) สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง.”
“ค่านิยม” เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า value
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล value เป็นบาลีดังนี้ –
(1) aggha อคฺฆ (อัก-คะ) = คุณค่า, สิ่งที่มีค่า
(2) payojana ปโยชน (ปะ-โย-ชะ-นะ) = ประโยชน์, สิ่งที่เป็นประโยชน์
(3) mahatta มหตฺต (มะ-หัด-ตะ) = สิ่งที่มีความสำคัญ
อีกนัยหนึ่งว่า “ค่านิยม” ตรงกับคำอังกฤษว่า popularity
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล popularity เป็นบาลีว่า –
janappiyatta ชนปฺปิยตฺต (ชะ-นับ-ปิ-ยัด-ตะ) = ภาวะที่ผู้คนชื่นชอบ, สิ่งที่เป็นที่รักของผู้คน
…………..
บางคนเห็นสิ่งที่มีคุณค่าว่าไร้ค่า
บางคนเห็นสิ่งที่ไร้ค่าว่ามีคุณค่า
ที่เป็นดังนี้ท่านว่าย่อมมี “สังกัปปะ” (thought, intention, purpose, plan) เป็นพื้นฐาน ดังพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า –
อสาเร สารมติโน
สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ
มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา.
สิ่งไม่มีสาระ เห็นว่ามีสาระ
สิ่งที่มีสาระ เห็นว่าไม่มีสาระ
เขาย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ
เพราะมีความดำริผิดเป็นนิสัย
สารญฺจ สารโต ญตฺวา
อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ
สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.
สิ่งมีสาระ รู้ว่ามีสาระ
สิ่งที่ไม่มีสาระ ก็รู้ว่าไม่มีสาระ
เขาย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระ
เพราะมีความดำริถูกต้องเป็นนิสัย
ที่มา: ยมกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 11
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไก่อ่อนไม่รู้ค่าพลอย ลิงน้อยไม่รู้ค่าแก้ว
: ถ้าไทยไม่รู้ค่าไทยเสียแล้ว จะต่างกันตรงไหนเล่าเอย
7-5-60