บาลีวันละคำ

สัตตนารถปริวัตร (บาลีวันละคำ 1,798)

สัตตนารถปริวัตร

อ่านว่า สัด-ตะ-หฺนาด-ปะ-ริ-วัด

แยกศัพท์เป็น สัตต + นารถ + ปริวัตร

(๑) “สัตต

บาลีเป็น “สตฺต” อ่านว่า สัด-ตะ รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ปัจจัย, ลบ ญฺช, ซ้อน

: สญฺช > + ตฺ + = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง

ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่าแม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)

บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สตฺตฺว, สตฺว : (คำนาม) ‘สัตว์,’ คุณหนึ่งในจำนวนสามของมนุษย์; คุณวัตตา, คุณความดี; พัสดุ; สฤษฏิ, ธรรมดา; ภูมณฑล; อากาศ, ไฟ, ฯลฯ; พลศักดิ์; ลมหายใจ; ภาวะหรือสมภพ; สาระ; ทรัพย์; ความเที่ยง; ชีวิต; เวตาล; ปราณิน, สัตว์หรือมนุษย์, สิ่งมีร่างและชีวิต; (คำใช้ในไวยากรณ์) นาม; one of the three Guṇas or properties of man; the quality of excellence, goodness; substance or thing; nature; the earth; air, fire, &c.; vigour or strength; breath; being or existence; essence; wealth; certainty; life; a goblin; an animal, a being; (In grammar) a noun.”

คำนี้โดยทั่วไปเราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว” หรือ “สัตว์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”

ในที่นี้สะกดเป็น “สัตต” ตามบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตตะ ๒ : (คำกริยา) ข้องอยู่, ติดอยู่, พัวพัน. (คำนาม) สัตว์. (ป.).”

เป็นอันว่า “สัตต” ก็คือ “สัตว์” นั่นเอง

(๒) “นารถ

บาลีเป็น “นาถ” อ่านว่า นา-ถะ รากศัพท์มาจาก นาถฺ (ธาตุ = ประกอบ, ขอร้อง, ปรารถนา, เป็นใหญ่, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย

: นาถฺ + = นาถ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้กอปรประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) “ผู้ขอร้องคนอื่นให้บำเพ็ญประโยชน์นั้นๆ

(3) “ผู้ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ควรช่วยเหลือ

(4) “ผู้เป็นใหญ่กว่าผู้ที่ควรช่วยเหลือ” (ผู้ช่วยเหลือย่อมอยู่เหนือผู้รับการช่วยเหลือ)

(5) “ผู้ยังกิเลสให้ร้อน” (เมื่อจะช่วยเหลือคนอื่น ความตระหนี่ ความเกียจคร้านเป็นต้นจะถูกแผดเผาจนทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้)

นาถ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ที่พึ่ง, ผู้ปกป้อง, การช่วยเหลือ (protector, refuge, help)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาถ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ผู้เป็นที่พึ่ง, เช่น โลกนาถ. (ป., ส.).”

ในที่นี้ “นาถ” สะกดเป็น “นารถ” ดูหน้าตาชวนให้เข้าใจว่าเป็นรูปคำสันสกฤต แต่พจนานุกรมฯ บอกว่าทั้งบาลีและสันสกฤตสะกดเป็น “นาถ” เหมือนกัน

นาถ” สะกดเป็น “นารถ” น่าจะเกิดจากการได้แนวเทียบผิด เช่นเห็นคำว่า “พจนารถ” (พด-จะ-นาด) “สิทธารถ” (สิด-ทาด) มีรูปเป็น –ารถ ก็เข้าใจว่า “นาถ” มาทางเดียวกัน จึงสะกดเป็น “นารถ

รูปคำ –ารถ มาจาก “อรฺถ” ในสันสกฤต หรือ “อตฺถ” ในบาลี ที่แปลว่า ความหมาย, ประโยชน์, สิ่งที่ต้องการ

พจนารถ” มาจาก พจน + อรฺถ = พจนารถ แปลว่า ความหมายของถ้อยคำ

สิทธารถ” มาจาก สิทธ + อรฺถ = สิทธารถ แปลว่า ความต้องการที่สำเร็จแล้ว

แต่ “นาถ” ไม่ได้มี “อรฺถ” อยู่ในคำนี้ จึงไม่สามารถเป็น “นารถ” ได้

คำว่า “บรมราชินีนาถ” สมัยหนึ่งก็เคยมีผู้สะกดเป็น “บรมราชินีนารถ” เนื่องจากแนวเทียบผิดทำนองเดียวกัน

ในที่นี้ (สัตตนารถปริวัตร) เป็นชื่อเฉพาะ (proper name) แม้จะสะกดผิดจากหลักทั่วไป ก็ถือว่าถูกเฉพาะในที่นี้

(๓) “ปริวัตร

บาลีเป็น “ปริวตฺต” (ปะ-ริ-วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ, เวียนรอบ) + วตฺต (ธาตุ = หมุนไป) + ปัจจัย

: ปริ + วตฺตฺ = ปริวตฺตฺ + = ปริวตฺต แปลตามศัพท์ว่า “การหมุนไปรอบๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริวตฺต” ว่า changing round, twisting, turning (เปลี่ยน [จากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง], บิดหรือหมุนรอบ)

ปริวตฺต” คำกริยาอาขยาตในภาษาบาลีเป็น “ปริวตฺตติ” (ปะ-ริ-วัด-ตะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –

(1) หมุนรอบ, ม้วน, เป็นไปรอบ (to turn round, twist, go about)

(2) เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา, เคลื่อน, พลิกแพลง, เปลี่ยนแปลง (to change about, move, change, turn)

บาลี “ปริวตฺต” สันสกฤตเป็น “ปริวรฺตฺต”  

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปริวรฺตฺต : (คำนาม) ‘ปริวรรตต์, ปริวรรต,’ การกลับหรือคืนหลัง; การหมุนเวียน; การหนี, การล่าถอยไป, การละทิ้ง; การแลกเปลี่ยน; การส่งคืน; อวสานของโลกหรือจตุรยุค; บริจเฉท, ครันถ์หรือครังถ์, ปรากฤตว่า – ‘ผูก;’ เสียงเอก; กูรมราช, เจ้าแห่งเต่าทั้งหลาย, กูรมาวตาร; turning or going back; revolving; flight, retreat, desertion; exchange or barter; requital or return; the end of the world or the four ages; a chapter, a book; a canto; the king of the tortoises, the Tortoise Incarnation.”

ในที่นี้ ภาษาไทยสะกดเป็น “ปริวัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริวัตร : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำกริยา) ปริวรรต เช่น จะเชื้อเชิญพระดาบสให้ปริวัตรเป็นบรมกษัตริย์. (ม. กาพย์ สักบรรพ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปริวัตร” ก็คือ “ปริวรรต

ดูที่คำว่า “ปริวรรต” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ปริวรรต, ปริวรรต– : (คำกริยา) หมุนเวียน เช่น ปริวรรตเงินตรา; เปลี่ยนแปลง, เปลี่ยนไป, แปรไป. (ส. ปริวรฺต; ป. ปริวตฺต).”

สรุปว่า บาลี “ปริวตฺต” สันสกฤต “ปริวรฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ปริวรรต” และสะกดเป็น “ปริวัตร” ก็มี เช่นในชื่อวัดแห่งนี้เป็นต้น

การประสมคำ :

สตฺต + นาถ = สตฺตนาถ > สัตตนารถ แปลว่า “ที่พึ่งของสัตว์

สตฺตนาถ + ปริวตฺต = สตฺตนาถปริวตฺต > สัตตนารถปริวัตร แปลว่า “แลกเปลี่ยนมาจากวัดสัตตนารถ

สัตตนารถ” อ่านว่าอย่างไร?

มีปัญหาว่า คำว่า “สัตตนารถ” จะอ่านว่าอย่างไร สัด-ตะ-นาด หรือ สัด-ตะ-หฺนาด?

ปกติ “นาถ” (ในที่นี้คือ “นารถ”) ถ้าอยู่เดี่ยว อ่านว่า นาด แต่ถ้ามีคำอื่นสมาสข้างหน้า นิยมอ่านว่า -หฺนาด เช่น อนาถ อ่านว่า อะ-หฺนาด ไม่ใช่ อะ-นาด (ที่ไม่ได้อ่านตามนี้ก็มี เช่น “โลกนาถ” อ่านว่า โลก-กะ-นาด ไม่ใช่ โลก-กะ-หฺนาด)

ในที่นี้ “นารถ” มี “สัตต” สมาสข้างหน้าเป็น “สัตตนารถ” จึงอ่านว่า สัด-ตะ-หฺนาด ไม่ใช่ สัด-ตะ-นาด

คนทั่วไป เมื่อเรียกวัดนี้สั้นๆ ก็เรียกกันว่า วัดสัด-ตะ-หฺนาด

…………..

สัตตนารถปริวัตร” เป็นชื่อพระอารามหลวงแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี

ในเขตตัวเมืองจังหวัดราชบุรีมีเขาย่อมๆ ลูกหนึ่ง ชื่อเขา “สัตตนารถ” มีวัดอยู่บนเขานั้น ซึ่งคงจะเรียกกันว่า “วัดสัตตนารถ” หรือ “วัดเขาสัตตนารถ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างวังที่เขาลูกนั้น จึงทรงทำผาติกรรมคือสร้างวัดชดใช้ให้ใหม่ในที่แห่งอื่น

วัดที่สร้างใหม่นี้จึงได้นามว่า “วัดสัตตนารถปริวัตร” มีความหมายว่า “วัดที่แลกเปลี่ยนมาจากวัดบนสัตตนารถ” สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต

กาลต่อมา วังบนเขาสัตตนารถได้ทรุดโทรมลง กลายเป็นวังร้าง จึงมีผู้เข้าไปฟื้นฟูเปลี่ยนกลับมาเป็นวัดขึ้นใหม่ เรียกกันว่า “วัดเขาวัง” คนทั้งหลายจึงเข้าใจกันว่าเขาลูกนี้ชื่อ “เขาวัง”

ปัจจุบันวัดเขาวังเป็นพระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วัดเก่าเก่ากลายเป็นวังตั้งตระหง่าน

: พอล่วงกาลวัดกลับตั้งบนวังเก่า

: ความไม่เที่ยงรู้ทันก็บรรเทา

: รู้ไม่เท่าขัดกันก็บรรลัย

————–

(ตามคำขอของ Tananya Pipitwanitchakan คนบ้านเดียวกัน)

11-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย