อวตาร (บาลีวันละคำ 1,802)
อวตาร
อ่านว่า อะ-วะ-ตาน
“อวตาร” เป็นรูปคำบาลีสันสกฤต อ่านว่า อะ-วะ-ตา-ระ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + ตรฺ ธาตุ = ข้าม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ต-(รฺ) เป็น อา (ตรฺ > ตาร)
: อว + ตรฺ = อวตรฺ + ณ = อวตรณ > อวตร > อวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การข้ามลง” “ที่เป็นเครื่องข้ามลง”
แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “อวตาร” คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันที่มีในคัมภีร์ คือ “โอตาร” (โอ-ตา-ระ)
“โอตาร” มีกระบวนการทางไวยากรณ์เหมือน “อวตาร” ต่างกันแต่แปลง “อว” เป็น “โอ”
: อว + ตรฺ = อวตรฺ + ณ = อวตรณ > อวตร > อวตาร > โอตาร
“อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง ในที่นี้บาลีใช้รูป “โอ”
“โอตาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) จุติ, การเข้าถึง, ใกล้เข้ามา (descent to, approach to, access)
(2) โอกาส, จังหวะ (chance, opportunity)
(3) การเข้าถึง (access)
(4) ความโน้มเอียงไปทาง, ความเป็นกันเอง, ความคุ้นเคย, การเข้าใกล้ (inclination to, being at home with, approach, familiarity)
(5) แสวงหาอะไรบางอย่าง, สอดแนม, เสาะหา; โทษ, ความผิด, มลทินหรือการตำหนิข้อบกพร่อง, ช่องโหว่ (being after something, spying, finding out; fault, blame, defect, flaw)
บาลี “โอตาร” สันสกฤตใช้เป็น “อวตาร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อวตาร : (คำนาม) การจุติของเทพดา; การเอาร่างของพระวิษณุ; (คำเยินยอ) ‘พระอวตาร,’ ผู้เลื่อมใสหรือสูงศักดิ์; descent of a deity from heaven; incarnation of Vishṇu; (a flattery) ‘Avatāra,’ a pious or distinguished person.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อวตาร : (คำกริยา) แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“อวตาร : การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, เป็นความหมายในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น พระนารายณ์อวตาร คือแบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น.”
…………..
บางศาสนาเชื่อว่า เมื่อโลกเกิดกลียุคทุกข์เข็ญ พระเป็นเจ้าจะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญเป็นคราวๆ ไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยากเวียนเกิดเวียนตาย จงรอพระนารายณ์อวตาร
: อยากไปพระนิพพาน ลงมือปฏิบัติธรรมเดี๋ยวนี้เลย
————–
(หมายเหตุ : คำว่า “อยากไปพระนิพพาน” คงจะถูกทักท้วงอีกว่าพูดผิดธรรมะ เพราะนิพพานไม่มีความอยาก ถ้ายัง “อยาก” อยู่ จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร)
15-5-60