บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หาวิธีไม่ให้เกิดสงคราม ง่ายกว่า ?

หาวิธีไม่ให้เกิดสงคราม ง่ายกว่า ?

———————————

ระหว่างวันที่ ๑๓ ถึง ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่จังหวัดราชบุรีมีงานสมโภช ๒๐๐ ปี ศาลหลักเมืองราชบุรี

งานนี้เท่าที่ผมได้ฟังมาตั้งแต่เริ่มเตรียมงาน ก็พูดกันว่าเป็นการฉลอง ๒๐๐ ปีเมืองราชบุรี

ประวัติสั้นๆ ก็คือ เดิมเมืองราชบุรีตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำแม่กลอง บริเวณที่เป็นวัดมหาธาตุเดี๋ยวนี้ 

เป็นที่รู้กันว่าราชบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน ต้องรับศึกพม่าอยู่เนืองๆ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เห็นว่าฝั่งตะวันตกชัยภูมิไม่ค่อยเหมาะเพราะด้านหลังติดแม่น้ำ หากเกิดคับขันจะถอยลำบาก จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๐

ถึงปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๐ ก็ครบ ๒๐๐ ปีเมืองราชบุรีตั้งแต่ย้ายที่มาตั้งเมืองใหม่ ที่คิดให้มีงานฉลอง ๒๐๐ ปีเมืองราชบุรีก็ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวมานี้

แต่ดูชื่องานแล้วไปคนละเรื่อง 

“งานสมโภช ๒๐๐ ปี ศาลหลักเมืองราชบุรี” กลายเป็นงานสมโภชศาลหลักเมือง 

ไม่ใช่สมโภชเมืองราชบุรี 

ไม่ใช่แม้แต่-สมโภชหลักเมือง

น้ำหนักของงานไปอยู่ที่-สมโภชศาล 

เรื่องใช้ชื่องานเบี่ยงเบนเช่นนี้ เมื่อเร็วๆ นี้เองจังหวัดราชบุรีก็สำแดงฝีมือมาทีหนึ่งแล้ว นั่นคืองานสมโภชสมเด็จพระสังฆราชเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายนที่ผ่านมา ไม่ทราบว่ามีญาติมิตรท่านใดได้เห็นป้ายชื่องานบ้าง ผมอ่านแล้วก็ทึ่งว่าท่านคิดได้ไง (ถ้ามีโอกาสจะเอามาคุยสู่กันฟัง)

—————–

เมื่อวันก่อนผมเดินออกกำลังตอนเช้า แวะเข้าไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุ ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส 

หลวงพ่อบอกเล่าความเคลื่อนไหวในวงการคณะสงฆ์ให้ฟังตามปกติ แล้วก็ท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า-ดูความเป็นไปของโลกแล้วน่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓

ถ้าเกิดสงครามโลก ไทยเราคงต้องถูกลากเข้าไปร่วมด้วยอย่างเลี่ยงไม่ออก ยิ่งไทยมีเรือดำน้ำด้วย ยิ่งเหมาะที่จะถูกเรียกระดมพลให้เข้าช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง-หลวงพ่อท่านว่าอย่างนั้น

หลวงพ่อเล่าว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) ทหารค่ายภาณุรังษีย้ายกำลังส่วนหนึ่งมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ติดต่อไปถึงวัดเขาเหลือ เหมือนกับย้ายจากเมืองใหม่กลับมาที่เมืองเก่า เพราะที่ค่ายนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์

สะพานรถไฟซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายภาณุรังษีถูกทิ้งระเบิด มีหัวรถจักรตกจมน้ำอยู่ใต้สะพานหัวหนึ่ง ผมยังทันได้เห็น คนราชบุรีรุ่นนั้นต้องเคยได้เห็นกันทั้งนั้น ตอนนี้ถูกกู้ขึ้นมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน

หลวงพ่อบอกว่า เพราะทหารมาตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุก็เลยถูกทิ้งระเบิดด้วย 

หลวงพ่อท่านก็เลยสร้าง “สงครามนุสรณ์” ขึ้นไว้ในวัด ดูรายละเอียดจากภาพประกอบเรื่องนี้เอาเองก็แล้วกันนะครับ

ตอนเกิดสงคราม พระตามวัดต่างๆ ในเมืองราชบุรีอพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่นกันมาก มีอยู่วัดหนึ่งคือวัดช่องลม พระหนีสงครามไปหมดทั้งวัด แต่หลวงพ่อเปาะ เจ้าอาวาสท่านไม่ยอมทิ้งวัด ท่านอยู่เฝ้าวัดรูปเดียวจนสงครามเลิก 

หลวงพ่อเปาะรูปนี้ผมยังได้ทันเห็นท่าน ท่านเป็นคนดำล่ำสั่น เสียงห้าว ท่าทางดุ ตอนผมเป็นสามเณรมาอยู่วัดมหาธาตุเมื่อปี ๒๕๐๖ ท่านเป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามว่า พระครูอินทเขมา เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี 

ปีนั้นผมสอบนักธรรมเอก สนามสอบอยู่ที่วัดช่องลมอันเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอ วันเปิดสอบท่านให้โอวาทกล่าวถึงบารมี ๑๐ ประการว่ามีอะไรบ้างและมีความหมายว่าอย่างไร 

ปรากฏว่าปีนั้นข้อสอบวิชาธรรมะออกเรื่องบารมี ๑๐ พระเณรเฮกันลั่น

ฟังว่าหลวงพ่อเปาะท่านไม่ยอมทิ้งวัดตอนเกิดสงครามแล้วน่านับถือน้ำใจท่าน

เจ้าอาวาสเปรียบเหมือนผู้บังคับการเรือ เกิดอะไรขึ้นกับเรือ ผู้บังคับการจะเป็นคนสุดท้ายที่ไปจากเรือ

—————–

คุยเรื่องสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ผมคิดถึงคนไทยยุคใหม่ที่ไม่เคยรู้รสสงคราม ไม่เคยเจอของจริงว่าบ้านเมืองเมื่อเกิดสงครามผู้คนจะอยู่กันอย่างไร สภาพชีวิตจะเป็นอย่างไร

ผมเคยอ่านความเห็นของนักประวัติศาสตร์ เขาบอกว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพนั้นเป็นเสมือนพญาราชสีห์บันลือสีหนาท ทำให้พม่าข้าศึกครั่นคร้ามไม่กล้ามาระรานสยามเป็นเวลานานถึง ๑๕๐ ปี เท่ากับเกือบ ๒ ชั่วอายุคน 

คนไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ จึงเป็นคนไทยที่อยู่สุขสบายมาชั่วชีวิต จนระลึกไม่ได้ว่าสงครามเป็นอย่างไร สภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเป็นอย่างไร และจำเป็นอะไรที่จะต้องฝึกฝนวิทยายุทธ เตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และเตรียมค่ายคูประตูหอรบไว้ให้พร้อมสรรพ

ไม่ต่างอะไรกับเด็กไทยยุคใหม่ที่ตั้งคำถามกับสังคมว่า จะต้องมีทหารไว้ทำไม จะต้องมีอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ทำไม 

และลามปามมาถึงขนาดที่ว่า-จะต้องเคารพธงชาติกันไปทำไม

……….

ครั้งนั้น เมื่อพม่าข้าศึกยกมา การป้องกันบ้างเมืองของสยามจึงป้อแป้ปวกเปียก

ยิงปืนใหญ่ไปนัดหนึ่ง นางข้างในก็หวีดผวา ไม่เป็นอันเสริมสวย

เราจึงเสียบ้านเสียเมืองไปในบัดนั้น

—————–

ผู้กุมการบริหารบ้านเมืองของเราอยู่ในเวลานี้ล้วนแต่เป็นคนรุ่นที่ไม่เคยเห็นบ้านเมืองมีศึกสงคราม เป็นคนรุ่นที่ชีวิตประจำวันเป็นปกติมาตั้งแต่เกิด จนนึกไม่เห็น เป็นไม่ถูก ว่าถ้าบ้านเมืองไม่เป็นปกติจะเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-คนในเมืองกรุงที่ทุกสิ่งทุกอย่างต่อท่อเข้ามาจากชานเมืองและต่างจังหวัด

อย่างลำบากที่สุด-

ถ้าไฟดับ ก็แค่ทนไปไม่กี่ชั่วโมงไฟก็มา

ถ้าน้ำหยุด ก็แค่ทนไปไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็มา

แต่นึกไม่เห็น เป็นไม่ถูกว่า ถ้าไม่มีไฟไม่มีน้ำเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นหลายๆ เดือน จะอยู่กันอย่างไร

ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตประจำวันดำรงอยู่ได้ด้วยการเสียบปลั๊ก ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร

อาหารทุกมื้อซื้อกิน ถ้าไม่มีคนขาย ไม่มีร้านค้า ไม่มีสินค้า จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร

ถามสนุกๆ ว่า ถ้าจำเป็นจะต้องก่อไฟหุงข้าวกินเอง เด็กเมืองรุ่นใหม่จะทำเป็นสักกี่คน ถ้าไม่มีไม้ขีด ไม่มีไฟแช็ก จะเอาอะไรมาจุดไฟ

ถ้าระบบการขนส่งเป็นอัมพาต คนที่อยู่ในกรุงจะไปไหนมาไหนกันอย่างไร แม้กระทั่ง-จะกลับต่างจังหวัดด้วยวิธีไหน

เด็กรุ่นใหม่เกิดมาก็ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักพื้นดิน แม่น้ำลำธาร ป่าไม้ ภูเขา ไม่เคยเห็นแม้กระทั่งวัวควายไร่นา คนรุ่นใหม่ดำรงชีพห่างไกลจากวิธีธรรมชาติไปทุกที 

หากท่อที่ต่อเข้ามาให้ยืนชีพอยู่ได้ในเมืองมีอันต้องถูกตัดขาด คนเมืองรุ่นใหม่จะอยู่กันอย่างไร

ผมว่าถ้าเกิดสงครามโลกคราวนี้ โอกาสที่จะกู้ประเทศไทยกลับคืนมาเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้กรุงครั้งที่ ๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ครั้งที่ ๒ คงยากมาก

เพราะ –

๑ เราไม่ได้ฝึกสอนคนของเราให้รู้จักคุณค่าของความลำบากยากเข็ญ และ –

๒ เราไม่ได้อบรมคนของเราให้มีน้ำใจรักชาติบ้านเมือง

—————–

ผมเคยคุยกับเด็กรุ่นใหม่ บอกเขาว่า สมัยเด็ก ผมทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารได้โดยไม่ต้องพึ่งโรงสี 

ผมก่อไฟหุงข้าวได้แม้ไม่มีไม้ขีดหรือไฟแช็ก

ไปป่า ไม่มีหม้อหุงข้าว มีแต่ข้าวสารห่อชายผ้าขาวม้า แต่ผมก็หุงข้าวกินได้ 

แต่เด็กสมัยนี้แค่ติดเตาถ่านก็ทำไม่เป็นแล้ว 

ทำได้แค่เสียบปลั๊ก 

วันไหนไฟฟ้าดับ อด 

เขาตอบว่า หาวิธีทำไม่ให้ไฟฟ้าดับง่ายกว่าเรียนวิธีหาฟืนก่อไฟ

นี่คือวิธีคิดของคนรุ่นใหม่

จะมีคนรุ่นใหม่คนไหนบ้างไหมครับที่เชื่อว่า หาวิธีไม่ให้เกิดสงครามง่ายกว่าฝึกสอนคนของเราให้รู้จักความลำบากยากเข็ญและให้มีน้ำใจรักชาติบ้านเมือง??

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๑๘:๔๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *