บาลีวันละคำ

โรงพยาบาล (บาลีวันละคำ 1,809)

โรงพยาบาล

ไม่ใช่โรงฆ่าสัตว์

บาลีว่าอย่างไร

คำในภาษาบาลีที่มีความหมายเท่ากับ “โรงพยาบาล” (hospital) เท่าที่พบมี 3 คำ (อาจมีมากกว่านี้) คือ –

(๑) อาโรคฺยสาลา (ārogyasālā) อ่านว่า อา-โรก-คยะ-สา-ลา

(๒) คิลานสาลา (gilānasālā) อ่านว่า คิ-ลา-นะ-สา-ลา

(๓) โสตฺถิสาลา (sotthisālā) อ่านว่า โสด-ถิ-สา-ลา

หมายเหตุ : ดูตามอักษรโรมันในวงเล็บ จะเห็นว่าเท่ากับเป็นการบอกคำอ่านอยู่ในตัว

(๑) “อาโรคย” (อา-โรก-คยะ โปรดสังเกต มีจุดใต้ คฺ) รากศัพท์มาจาก :-

ขั้นที่ 1 : โรค (โร-คะ) = ความเจ็บป่วย, โรค (illness, disease)

ขั้นที่ 2 : + โรค (แปลง เป็น ) = อโรค : โรคของผู้นั้นไม่มี เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า “อโรค” (อะ-โร-คะ) = ผู้ไม่มีโรค, ไม่เจ็บป่วย, มีสุขภาพดี (one who without disease, one who healthy)

ขั้นที่ 3 : อโรค + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ทีฆะ อะ ที่ -(โรค) เป็น อา ตามสูตร : “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: อโรค + ณฺย = อโรคณฺย > อโรคฺย > อาโรคฺย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้ไม่มีโรค” หมายถึง ความไม่มีโรค, ความมีอนามัยดี (absence of illness, health)

บาลี “อาโรคฺย” สันสกฤตก็เป็น “อาโรคฺย” รูปเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาโรคฺย : (คำนาม) ความสำราญ, ความไม่มีโรค; health, soundness of body.”

หมายเหตุ : ดูเพิ่มเติมที่ “อาโรคยศาล” บาลีวันละคำ (1,528) 10-8-59

(๒) “คิลาน” (คิ-ลา-นะ) รากศัพท์มาจาก คิลฺ (ธาตุ = หมดความสนุก; ลำบาก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ (คิ)-ลฺ เป็น อา (คิลฺ > คิลา)

: คิลฺ + ยุ > อน = คิลน > คิลาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้หมดความสนุก” (2) “ผู้ลำบาก” หมายถึง ผู้ป่วย, เจ็บไข้ (sick, ill)

(๓) “โสตฺถิ” (โสด-ถิ โปรดสังเกต มีจุดใต้ ตฺ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี งาม ง่าย) + อตฺถิ (คำกริยา ย่อมมี ย่อมเป็น), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ (สุ > โส)

: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “ดีมี” หมายถึง การอยู่ดี, ความปลอดภัย, การได้รับพร (well-being, safety, blessing)

บาลี “โสตฺถิ” (เป็น “สุวตฺถิ” อีกรูปหนึ่ง) สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” คือคำที่เราใช้เป็น “สวัสดี” นั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สฺวสฺติ : (คำนาม) นิบาตคือคำอวยชัยให้พร; มงคลนิบาต (ดุจคำว่า – สวัสติ, จงเปนสุขๆ); ธันยวาทศัพท์; a particle of benediction; an auspicious particle (as – ‘adieu, farewell’); a term of approbation.

(2) สฺวสฺติ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘สวัสติ,’ จงเปนสุขๆ, ‘จงสวัสดีมีชัย’ ก็ใช้ตามมติไท [ตามมติสํสกฤตเปน-สฺวสฺติ, ภทฺรํ ภูยาตฺ, ฯลฯ.]; adieu, farewell.

(๔) “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา

สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ประสมคำ :

อาโรคฺย + สาลา = อาโรคฺยสาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาเพื่อความไม่มีโรค” หมายถึง โรงพยาบาล (hospital หรือ medical station)

คิลาน + สาลา = คิลานสาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาสำหรับคนป่วย” หมายถึง ห้องคนไข้, ห้องสำหรับผู้ป่วย, โรงพยาบาล (sick room, a hall for the sick, hospital)

โสตฺถิ + สาลา = โสตฺถิสาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาเพื่อความสวัสดี” หมายถึง ห้องที่ผู้ป่วยเข้าไปอยู่แล้วทำให้ปลอดภัย (safety-hall)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “โรงพยาบาล” ไว้ว่า –

โรงพยาบาล : (คำนาม) สถานที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย คือทั้งตรวจ รักษา และป้องกันโรคให้แก่ประชาชน และมีเตียงสำหรับรับคนไข้เข้าพักรักษาตัวด้วย.”

…………..

โรงพยาบาลนั้นสร้างขึ้นด้วยเจตนารมณ์สูงสุด คือ เพื่อรักษาให้มนุษย์รอดชีวิตและออกจากโรงพยาบาลไปอย่างอย่างมีความสุขตามอัตภาพ

แม้จะมีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลตามสภาพของโรค แต่โรงพยาบาลก็มิได้สร้างไว้ให้เป็นที่สำหรับให้ใครเข้าไปฆ่าใคร

การตั้งใจทำให้คนในโรงพยาบาลตาย จึงนับว่าเป็นความวิปริตถึงที่สุดเท่าที่มนุษย์จะพึงวิปริตได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักษาคนป่วยด้วยใจรัก เหมือนยื่นใบสมัครไปนิพพาน

: ทำร้ายคนในโรงพยาบาล คือยื่นใบสมัครไปอเวจี

22-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย