บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มัจฉริยามัจฉริยสงคราม

มัจฉริยามัจฉริยสงคราม

————————-

ผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ยังทันได้เห็นทหารกองประจำการใช้หมวกรับเบี้ยเลี้ยงเงินเดือน

คือพอถึงวันเงินเดือนออก กำลังพลที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนก็จะชักแถวไปที่ห้องสมุห์ (นายทหารการเงิน) สมุห์จะเอาเงินของผู้นั้นวางไว้บนโต๊ะข้างหน้า (ไม่ยื่นส่งให้) เจ้าของเงินจะก้าวเข้ามายืนตรง ถอดหมวกแล้วหงายหมวกขึ้น ถือหมวกด้วยมือซ้าย ใช้มือขวากวาดเงินลงในหมวกแล้วก้าวออกไป 

การรับเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนด้วยกิริยาเช่นนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นแบบธรรมเนียมของทหารเรือที่สั่งสอนกันมา โดยอธิบายว่า เบี้ยเลี้ยงเงินเดือนของทหารเป็นของพระราชทาน ดังนั้นจึงต้องใช้ของสูงที่สุดในเครื่องแต่งตัว นั่นคือหมวก เป็นเครื่องรองรับจึงจะคู่ควรกัน

ภาพที่ทหารเข้าไปยืนตรงหน้าโต๊ะสมุห์ หงายหมวก ย่อตัวลงเล็กน้อย ถือหมวกด้วยมือซ้าย กวาดเงินลงในหมวกด้วยมือขวา ผมว่าเป็นภาพที่สง่างามมาก หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ผมจำไม่ได้ว่านายทหารชั้นประทวนต้องรับเงินเดือนด้วยกิริยาเช่นนั้นด้วยหรือเปล่า แต่นายทหารสัญญาบัตรไม่ต้อง คงรับตามปกติ 

สมัยนั้นทหารเรือรับเงินเดือนเป็นตัวเงินจริงๆ จากเจ้าหน้าที่การเงินของหน่วย คือพอถึงวันเงินเดือนออก นายทหารการเงินของหน่วยต่างๆ ก็จะไปเบิกเงินมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเอามาจ่ายให้แก่ทหารและข้าราชการ

ตามระเบียบนั้น หน่วยที่ไปเบิกจะต้องจัดนายทหารรักษาความปลอดภัยกำกับไปด้วย ซึ่งตามปกติก็จัดนายทหารเวรประจำวันเป็นนายทหารรักษาความปลอดภัย

อยู่มาปีหนึ่ง น่าจะประมาณก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ เล็กน้อย ก็เกิดเหตุร้ายขึ้นในกระบวนการเบิกเงินของกรมยุทธศึกษาทหารเรือ กล่าวคือเสมียนนายหนึ่งของแผนกการเงินของหน่วย วางแผนสับเปลี่ยนกระเป๋าใส่เงินระหว่างที่อยู่ในลิปต์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พอมาถึงหน่วย เปิดกระเป๋า ปรากฏว่ามีแต่ก้อนอิฐ กระเป๋าใส่เงินจริงล่องหนไปที่อื่นเรียบร้อย 

ยังกะในหนัง อะไรจะปานนั้น

วันนั้น ปรากฏว่านายทหารเวรประจำวันซึ่งต้องเป็นนายทหารรักษาความปลอดภัยตามที่เคยปฏิบัติกันมา เป็นอนุศาสนาจารย์รุ่นน้องของผม-ขออนุญาตเอ่ยนาม เรือโท วิโรจน์ พิศเพ็ง-ต้องตกเป็นจำเลยของเรื่องราวไปด้วย ในฐานเป็นนายทหารรักษาความปลอดภัย แล้วปล่อยให้เงินหาย

รายละเอียดทั้งหมด ต้องให้ท่านอาจารย์วิโรจน์ (ปัจจุบันยศนาวาเอก) เป็นผู้เล่า เพราะเป็นผู้ปฏิบัติการจริงอยู่ในที่เกิดเหตุ

แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดคือนายทหารการเงินของหน่วย เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และจะต้องรับผิดชอบเต็มๆ ในการหาเงินมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้ข้าราชการในหน่วยให้ได้ตามปกติ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้นายทหารการเงินท่านนั้นดำเนินการผลักดันให้กองทัพเรือยกเลิกการจ่ายเงินเดือนเป็นตัวเงินโดยตรงให้แก่ผู้รับ แต่ให้ใช้ระบบจ่ายผ่านธนาคารโดยใช้บัตร ATM แทน

พอถึงวันเงินเดือนออก แต่ละคนก็ไป “กดเงิน” เอาเอง ไม่ต้องชักแถวไปที่ห้องสมุห์อีกต่อไป

ภาพการรับเงินเดือนด้วยหมวกก็ลาลับไม่กลับมาอีกเลย

จนกระทั่ง อยู่มาวันหนึ่ง ….

——————

ผมเดินออกกำลังตอนเช้า ไปตามถนนไหนๆ หลายสาย แล้วก็วกเข้าไปในวัดมหาธาตุ ตั้งใจไปไหว้พระตามปกติ

ผมเข้าปากทางเข้าวัดทางซุ้มประตูทิศตะวันตก เดินไปจนถึงมุมเขตแนวกำแพงด้านนอกของพระปรางค์ ก็เจอแม่ชีท่านหนึ่งนั่งรอใส่บาตร

ผมเคยเห็นแม่ชีท่านนี้นั่งรอใส่บาตรตรงนั้นบ่อยๆ ปกติพอเข้าไปใกล้ผมก็จะยกมืออนุโมทนาพร้อมกับพูดดังๆ ว่า “อนุโมทนาบุญด้วยครับ” ท่านก็จะตอบคำอนุโมทนาเป็นถ้อยทีถ้อยโมทนาต่อกันและกัน

วันนั้นก็เช่นเคย พอผมพูด “อนุโมทนาบุญด้วยครับ” จบ ท่านก็ตอบคำอนุโมทนาแล้วลุกขึ้นเดินมาหาผม มือถือถุงที่บรรจุของใส่บาตร พร้อมกับพูดว่า

“วันนี้ท่านพระครูกุหลาบน่าจะไม่มาแล้ว ฉันใส่ให้คุณมหาอุบาสกแทนก็แล้วกัน”

ผมไม่ทันตั้งตัว คิดอะไรไม่ออก ตอนนั้นเข้าเขตวัด ผมถอดหมวกถือไว้ด้วยมือซ้าย นึกภาพทหารรับเงินเดือนด้วยหมวกขึ้นมาในปัจจุบันทันด่วน

ผมก็เลยหงายหมวก ให้แม่ชีเอาของที่เตรียมมาใส่บาตรใส่ลงในหมวก ตอนนั้นความรู้สึกเหมือนเป็นพลทหารรับเงินเดือนประสมกับเป็นพระรับบิณฑบาต ก็แปลกๆ ดี

ของที่ตั้งใจใส่บาตรเป็นของสูง ก็ต้องใช้ของสูงที่สุดในเครื่องแต่งตัว นั่นคือหมวก เป็นเครื่องรองรับจึงจะคู่ควรกัน ผมนึกถึงเหตุผลข้อนี้

——————

ผมเดินเข้าไปในวัด หยิบของในถุงขึ้นมาดู เป็นขนมกับเครื่องดื่มประเภทโยเกิร์ตขวดขนาดเขื่อง ถ้ากินก็คงอิ่ม 

กำลังหิวและอยากกินอยู่พอดี 

เดินพลาง ชั่งใจตัวเองไปพลาง จนกระทั่งขึ้นไปไหว้พระบนวิหารหลวงเสร็จเรียบร้อย ลงจากวิหารก็ยังชั่งใจต่อไปอีก

กินเองดี หรือเอาไปถวายพระดี

ใจหนึ่งอยากกินเอง 

แม่ชีท่านให้เป็นสิทธิ์ขาดของเราแล้ว กินได้เลย

ใจหนึ่งก็อยากถวายพระ 

บางวันเจอพระ แต่ไม่มีไทยธรรม

บางวันมีไทยธรรม แต่ไม่เจอพระ

วันนี้ ไทยธรรมก็มี พระก็มีอยู่ในวัดนี่แล้ว

หรือว่าเอาโยเกิร์ตถวายพระ ตัวเองกินขนม

หรือเอาขนมถวายพระ เรากินโยเกิร์ตเอง

หรือว่าถวายพระทั้งสองอย่าง

หรือว่ากินเองทั้งสองอย่าง

…………..

…………..

ระยะทางจากมุมกำแพงพระปรางค์เข้าไปในวัดประมาณ ๒๐๐ เมตร มัจฉริยะกับอมัจฉริยะกำลังสู้กันเป็นพัลวันอยู่ในใจผม

พอเดินสุดกำแพงพระปรางค์ด้านตะวันออก ถึงสนาม ก็เห็นหลวงพ่อเจ้าอาวาสนั่งอยู่บนศาลาริมสนามตรงที่ท่านชอบนั่งประจำ

ผมฉวยโอกาสนั้นปิดยุทธการทันที 

น้อมขนมและโยเกิร์ตทั้งถุงเข้าไปถวายหลวงพ่อด้วยหัวใจที่ผ่องแผ้ว

——————

หลวงพ่อท่านเคยเปรยอยู่บ่อยๆ ว่า –

คนบางคน เงินหมื่นอาจไม่โกง

เงินแสนก็ยังไม่โกง

เงินล้าน ก็-อาจจะยังไม่โกง

แต่ถ้าหลายๆ ล้าน 

สิบล้าน หลายสิบล้าน …

ไม่แน่!!

……….

ขนมและโยเกิร์ตถุงเดียว ยังพอถวายได้

แต่ถ้าเป็นเงินหมื่นเงินแสน ถ้ามี… จะยังกล้าถวายอยู่หรือไม่

ถึงจะเป็นชัยชนะเล็กๆ เพียงครั้งเดียว ก็ขอให้ชนะไว้เถิด

ถ้าครั้งนี้ชนะ

จะเป็นกำลังใจสำหรับครั้งต่อไปได้อีกอย่างแน่นอน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๑๒:๐๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *